1) คำแนะนำ เกี่ยวกับขั้นตอนต่างๆ หลังการผ่าตัด ตกแต่งด้านหน้าและด้านหลังช่องคลอด แบบเสริมแผ่นพยุง
หลังการผ่าตัด ตกแต่งด้านหน้าและด้านหลังช่องคลอด แบบเสริมแผ่นพยุง ผู้ป่วยจะได้รับการสังเกตอาการที่ห้องพักฟื้น 1-2 ชั่วโมง เมื่อผู้ป่วยรู้สึกตัวดี, สัญญาณชีพปกติ และตรวจแผลผ่าตัดแล้ว ไม่พบว่ามีเลือดออกจากแผลผ่าตัดมากผิดปกติ –วิสัญญีแพทย์จึงจะอนุญาตให้ผู้ป่วยกลับไปนอนพักสังเกตอาการต่อที่ตึกผู้ป่วยใน ทั้งนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการมึนงง, เวียนศีรษะ, คลื่นไส้หรืออาเจียน จากการดมยาสลบ ภาวะดังกล่าวนี้จะดีขึ้น เมื่อระดับยาในร่างกายลดลง
หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจำเป็นต้องใส่ผ้ากอซ (vagina packing ) ในช่องคลอด 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัด เพื่อช่วยห้ามเลือดและทําให้ผนังช่องคลอดยึดติดกับแผ่นพยุง รวมทั้งผู้ป่วยจำเป็นใส่สายสวนปัสสาวะ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะทางเดินปัสสาวะอักเสบ เนื่องจากภาวะปัสสาวะลำบากหลังผ่าตัด และต้องนอนพักโรงพยาบาลเป็นเวลา 3-5 วัน
ที่ตึกผู้ป่วยใน ผู้ป่วยจะได้รับยาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันการติดเชื้อหลังการผ่าตัด, ยาแก้อักเสบ เพื่อบรรเทาอาการอักเสบและช่วยลดความเจ็บปวดของแผลผ่าตัด, ยาแก้ปวดพาราเซตามอล และยาระบาย เพื่อป้องกันภาวะท้องผูก กรณีผู้ป่วยมีอาการปวดแผลมากไม่ดีขึ้นหลังการรับประทานยาแก้ปวด กรุณาแจ้งพยาบาล เพื่อขอรับยาแก้ปวดชนิดฉีด เพื่อช่วยลดอาการปวด
ในระยะ 2-3 วันแรกหลังผ่าตัด ผู้ป่วยจะสามารถลุกและเดินไปรอบๆ ได้เล็กน้อย ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการปวดบริเวณแผลผ่าตัด รวมทั้งผู้ป่วยอาจมีความรู้สึกปวดเบ่งอยากถ่ายอุจจาระตลอดเวลา เนื่องจากการผ่าตัดมีการเย็บผนังด้านหลังของผนังช่องคลอด ที่มีหูรูดทวารหนักอยู่ ควรนอนพักเพื่อลดอาการปวด และควรหลีกเลี่ยงการเบ่งถ่ายอุจจาระจากภาวะท้องผูก โดยการรับประทานยาระบาย
2) คำแนะนำเกี่ยวกับ การสัมผัสน้ำและการปฏิบัติตัว หลังการผ่าตัด ตกแต่งด้านหน้าและด้านหลังช่องคลอด แบบเสริมแผ่นพยุง
ในระยะ 3-5 วันแรกหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยไม่ควรอาบน้ำ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ (อาจใช้การเช็ดตัวไปก่อน) การทำความสะอาดแผลผ่าตัด ทีอยู่บริเวณปากช่องคลอด หลังการถ่ายอุจจาระ สามารถทำได้โดยล้างผ่านน้ำเปล่าแล้วซับเบาๆ ให้แห้ง
หลังการผ่าตัดตกแต่ง 3-5 วันผู้ป่วยจะได้รับการถอดสายสวนปัสสาวะ จากนั้นแพทย์หญิง วิทัศศนา จะทําการตรวจแผลผ่าตัด เพื่อดูว่าไม่มีเลือดออกจากแผลผ่าตัดมากผิดปกติ ทั้งนี้แพทย์หญิง วิทัศศนา จะอนุญาตให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้ หลังจากผู้ป่วยสามารถปัสสาวะได้เอง รวมทั้งผู้ป่วยเข้าใจคำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัดที่ถูกต้อง
เมื่อกลับบ้าน ผู้ป่วยจะได้รับยาปฏิชีวนะ, ยาแก้อักเสบ, ยาพาราเซตามอล และยาระบาย ควรรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ ควรรับประทานให้ครบทั้งหมด
หลังการผ่าตัด 3-5 วัน ผู้ป่วยสามารถอาบน้ำได้ตามปกติ ผู้ป่วยควรทำความสะอาดแผลผ่าตัด บริเวณปากช่องคลอดด้วยการฟอกสบู่ขณะอาบน้ำ ในตอนเช้าและ/หรือก่อนนอนทุกครั้ง ไม่ควรพยายามทำความสะอาดในช่องคลอด โดยการล้วงเข้าไปในช่องคลอด และไม่ควรพยายามสวนล้างหรือฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อเข้าไปในช่องคลอด
ผู้ป่วยควรจะต้องหยุดทำงานและงดกิจกรรมต่างๆ ที่เคยทำเป็นประจำ ในระยะ 5-7 วันแรกหลังการผ่าตัด เพื่อลดอาการปวด อันเนื่องมาจากการอักเสบของแผลผ่าตัด อีกทั้งเนื่องจากบริเวณที่ทำการผ่าตัด อยู่ในบริเวณที่จะได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนไหว ซึ่งได้แก่ การเดิน, การขึ้นลงบันไดหรือการทำกิจกรรมทางกายภาพต่างๆ ดังนั้นการหยุดทำงานและงดกิจกรรมต่างๆ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เนื่องจากภาวะแผลแยกได้
ในช่วง 1-2 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด อาจมีเลือดสีแดงจางๆ ออกจากช่องคลอด ควรใส่ผ้าอนามัยแบบบาง เพื่อสังเกตปริมาณเลือดที่ออกจากช่องคลอด กรณีมีเลือดออกมากชุ่มผ้าอนามัย หรือมีเลือดออกเป็นก้อนสีแดงสด กรุณาโทรติดต่อโรงพยาบาลทันที เพื่อขอรับคำแนะนำ หรือกลับมาพบแพทย์ เพื่อตรวจแผลผ่าตัด
ในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด ควรพยายามหลีกเลี่ยงความอับชื้นของแผลผ่าตัดบริเวณฝีเย็บ เพื่อช่วยให้แผลผ่าตัดแห้งและหายเร็วขึ้น สำหรับการทำความสะอาดบริเวณแผลผ่าตัดหลังปัสสาวะ สามารถทำได้โดยการซับด้วยทิชชูเปียก (Sanitary Wipes) และหลังการถ่ายอุจจาระ โดยการล้างผ่านน้ำเปล่าแล้วซับเบาๆ ให้แห้ง
หลังการผ่าตัดอาจมีตกขาวสีเหลืองเข้ม หรือตกขาวมีสีคล้ายหนองนาน 6-8 สัปดาห์ ผู้ป่วยโปรดไม่ต้องกังวลใจ เนื่องจากภายในช่องคลอดจะเต็มไปด้วยสารคัดหลั่งในช่องคลอดและแบคทีเรียต่างๆ ทําให้เกิดปฏิกิริยาต่อเนื้อเยื่อที่ผ่าตัดและไหมที่เย็บแผลผ่าตัดในช่องคลอด ซึ่งเมื่อไหมละลายหมดและแผลผ่าตัดหายดีแล้ว อาการดังกล่าวจะหายเป็นปกติ ยกเว้นในกรณีตกขาวมีกลิ่นเหม็น ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องได้รับยารับประทานเพิ่มเติม
ผู้ป่วยอาจมีตกขาวสีขาวปนเขียว หรือมีอาการคันในช่องคลอดมากกว่าปกติหลังการผ่าตัด เนื่องจากเชื้อราภายในช่องคลอด ซึ่งเกิดตามหลังการรับประทานยาปฏิชีวนะ ทั้งนี้โดยทั่วไปแพทย์จะจัดยาฆ่าเชื้อราให้รับประทาน หลังหยุดยาปฏิชีวนะ 1 สัปดาห์ หรือให้ยาเหน็บช่องคลอดฆ่าเชื้อรา เมื่อแผลผ่าตัดหายดีแล้ว หรือหลังการผ่าตัด 6-8 สัปดาห์
ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารได้ทุกชนิดหลังการผ่าตัด แต่ควรยกเว้น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ของหมักดอง และงดสูบบุหรี่ อย่างน้อย 15 วันหลังการผ่าตัด
ต้องการอ่านเพิ่มเติม โปรดคลิก
ปัญหาทั่วไปของ อวัยวะเพศ ภายนอกของผู้หญิง
คำถามบ่อย เกี่ยวกับ การผ่าตัด รีแพร์ ด้านหน้าและด้านหลังผนังช่องคลอด
3) คำแนะนำเกี่ยวกับ การปฏิบัติตัวในระยะเวลาพักฟื้น หลังการผ่าตัด ตกแต่งด้านหน้าและด้านหลังช่องคลอด แบบเสริมแผ่นพยุง
ในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด บริเวณที่ทำการผ่าตัดยังคงมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ค่อนข้างมาก ดังนั้นผู้ป่วยอาจจะค่อยๆ กลับมาทำกิจกรรมทางกายภาพต่างๆ ที่ต้องใช้กำลังได้เล็กน้อยและยกของเบาๆ ได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมทางกายภาพที่ต้องเดินมากๆ และการขึ้นลงบันไดบ่อยๆ
ในช่วงหลังสัปดาห์ที่ 2 – จนถึงสัปดาห์ที่ 4 หลังการผ่าตัด บริเวณที่ทำการผ่าตัดอาจจะยังคงเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน อย่างไรก็ตามผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมทางกายภาพต่างๆ ที่ต้องใช้กำลังปานกลางได้พอควร แต่ควรงดการออกกําลังกายทุกชนิด
ในช่วงหลังสัปดาห์ที่ 4 – จนถึงสัปดาห์ที่ 6 หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัด สามารถทำกิจกรรมทางกายภาพต่างๆ ที่ต้องใช้กำลังปานกลางได้มากขึ้น และสามารถออกกำลังกายที่ใช้แรงของลำตัวช่วงบนได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมทางกายภาพ ที่ต้องใช้กำลังกล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกราน ที่ส่งผลกระทบต่อแผลผ่าตัด เช่น การวิ่งออกกำลังกายหรือการเดินเร็ว, การแช่น้ำอุ่นในอ่างอาบน้ำ, การว่ายน้าออกกําลังกาย, การยกของหนัก, การขี่จักรยาน, การเล่นโยคะและการซิทอัพ
หลังการผ่าตัด 6 สัปดาห์ ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัด สามารถทำกิจกรรมทางกายภาพต่างๆ ที่ต้องใช้กำลังได้ตามปกติ แต่ทั้งนี้ผู้ป่วยควรงดการมีเพศสัมพันธ์หลังการผ่าตัด เพราะมีโอกาสเกิดแผ่นพยุงยื่นหรือโผล่ออกมาที่ช่องคลอดได้สูง ดังนั้นศูนย์ศัลยกรรมตกแต่งทางนรีเวช โรงพยาบาลยันฮี จะพิจารณาทําผ่าตัดนี้ เฉพาะผู้ป่วยอายุมากและไม่มีเพศสัมพันธ์แล้ว
4) คำแนะนำเกี่ยวกับ การตัดไหม หลังการผ่าตัด ตกแต่งด้านหน้าและด้านหลังช่องคลอด แบบเสริมแผ่นพยุง
ไหมที่ใช้เย็บแผลผ่าตัด เป็นไหมเส้นใหญ่ที่ละลายช้าภายใน 6-8 สัปดาห์ แต่พบว่าในผู้ป่วยบางราย อาจใช้เวลานานมากกว่าปกติไหมจึงจะละลายหมด ทำให้เกิดอาการระคายเคือง ในผู้ป่วยที่มีอาการคัน หรืออาการระคายเคืองมาก แนะนำให้รับประทานยาแก้แพ้ เพื่อช่วยบรรเทาอาการคัน
5) คำแนะนำเกี่ยวกับ การนัดหมาย หลังการผ่าตัด ตกแต่งด้านหน้าและด้านหลังช่องคลอด แบบเสริมแผ่นพยุง
พญ.วิทัศศนา จะนัดผู้ป่วย เพื่อตรวจหลังการผ่าตัด ตกแต่งด้านหน้าและด้านหลังช่องคลอด แบบเสริมแผ่นพยุง ในราว 1-2สัปดาห์หลังการผ่าตัด หรือเมื่อเห็นว่าเหมาะสม อย่าลังเลที่จะ ติดต่อสอบถาม เราหากมีข้อสงสัย