Q : การผ่าตัด รีแพร์ ผนังช่องคลอดด้านหน้า และ การผ่าตัด รีแพร์ ผนังช่องคลอดด้านหลัง หมายถึงอะไร?
ทั้งสองหัตถการเป็นการผ่าตัดเพื่อแก้ไข ภาวะหย่อนยาน ของผนังช่องคลอดทางด้านหน้าและ/หรือ ทางด้านหลัง โดยส่วนมากจะทำแยกกันหรือบางครั้งก็ทำร่วมกัน รวมทั้งในกรณีที่มีภาวะมดลูกหย่อนมาก อาจจะจำเป็นต้องทำการผ่าตัดเอามดลูกออกด้วย
ศัลยกรรม รีแพร์ ผนังช่องคลอดด้านหน้า
- เป็นการผ่าตัดที่จะช่วยแก้ไขอาการหย่อนคล้อยของผนังช่องคลอดด้านหน้า ซึ่งมีกระเพาะปัสสาวะวางอยู่ด้านบนของผนังช่องคลอดส่วนนี้ ทำให้กระเพาะปัสสาวะถูกดันลงมาพร้อมกับผนังช่องคลอด นำมาซึ่งอาการต่างๆ ที่เกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น ความรู้สึกไม่สบายตัว, อาการปวดถ่วง, ความรู้สึกว่ามีก้อนเนื้อนูนจุกอยู่ภายในช่องคลอด, อาการปัสสาวะบ่อย, ปัสสาวะราดหรือมีปัสสาวะเล็ด ขณะไอ จาม ออกกำลังกาย
- ในกระบวนการของการผ่าตัด ผนังช่องคลอดด้านหน้าจะได้รับการผ่าตัด เพื่อดันกระเพาะปัสสาวะกลับไปยังตำแหน่งเดิม ต่อมาเนื้อเยื่อบุผนังช่องคลอดส่วนเกินจะถูกตัดออก และหลังจากนั้นผนังช่องคลอดจะได้รับการเย็บปิดแผลผ่าตัด ซึ่งการเย็บแผลจะทำการเย็บ 2 ถึง 3 ชั้น เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด เนื่องจากภาวะแผลแยกแล้วทำให้มีเลือดออกผิดปกติ ไหมที่ใช้ในการเย็บแผลผ่าตัดเป็นไหมละลายช้า และจะเริ่มละลายหลุดออกมาจากช่องคลอด ภายใน 6-8 สัปดาห์ หลังจากการผ่าตัด
ศัลยกรรม รีแพร์ ผนังช่องคลอดด้านหลัง
- มีจุดประสงค์เพื่อแก้ไขภาวะหย่อนยานของผนังช่องคลอดด้านหลัง ซึ่งผนังช่องคลอดด้านหลังจะมีไส้ตรงหรือช่องทวารหนัก วางอยู่ด้านล่างของผนังช่องคลอดส่วนนี้ ซึ่งภาวะหย่อนยานของผนังช่องคลอดด้านหลัง จะทำให้ไส้ตรงหรือช่องทวารหนักถูกดันเข้ามาในช่องคลอด ทำให้เกิดความรู้สึกไม่สบายทางกายภาพ, ช่องคลอดและปากช่องคลอดมีก้อนนูน รวมทั้งเป็นไปได้ที่จะมีปัญหาหรือมีอาการเกี่ยวกับการทำงานของลำไส้ เนื่องจากภาวะท้องผูกเรื้อรัง
- ในกระบวนการของการผ่าตัด ผนังช่องคลอดด้านหลังจะได้รับการผ่าตัด เพื่อดันไส้ตรงหรือช่องทวารหนักกลับไปยังตำแหน่งเดิม หลังจากนั้นเนื้อเยื่อบุช่องคลอดส่วนเกินจะถูกตัดออก และได้รับการเย็บปิดแผลผ่าตัด
การผ่าตัดรีแพร์ด้านหน้าและด้านหลังผนังช่องคลอด ดำเนินการผ่าตัดโดยการดมยาสลบ หรือการฉีดยาชาเฉพาะที่ร่วมกับการฉีดยานอนหลับเข้าหลอดเลือดดำ ซึ่งคุณจะได้รับคำแนะนำจาก พญ.วิทัศศนา ในเรื่องดังกล่าวนี้ก่อนเข้ารับการผ่าตัด
Q : ในการผ่าตัด รีแพร์ ด้านหน้าและด้านหลังผนังช่องคลอด ควรมีการเตรียมตัวในการเข้าพบแพทย์อย่างไร?
- คุณควรนำประวัติการเจ็บป่วยทั้งหมด รวมทั้งยาที่คุณกำลังรับประทานอยู่มาด้วย โปรดแจ้งอาการแพ้ยาชนิดต่างๆ ประวัติการรักษา, ประวัติการทำฟัน, ประวัติการผ่าตัด หรือปัญหาเกี่ยวกับการใช้ยาชาซึ่งเคยเกิดขึ้นกับครอบครัว
- เจ้าหน้าที่พยาบาลจะนำคุณไปยังห้องตรวจ ซึ่ง พญ.วิทัศศนา จะทำการจะมีการซักประวัติ และตรวจภายในขั้นต้น หลังการตรวจภายในและการประเมินผล คุณกับ พญ. วิทัศศนา จะมีการพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาและความคาดหวังของคุณ ซึ่งจะมีการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการรักษาของคุณ จากนั้นคุณหมอจะอธิบายเกี่ยวกับการผ่าตัด รวมทั้งเปิดโอกาสให้คุณสอบถามและตัดสินใจเกี่ยวกับการผ่าตัด
- กรณีที่คุณตัดสินใจเลือกเข้ารับการผ่าตัด คุณหมอ วิทัศศนา จะแจ้งค่าใช้จ่ายในการผ่าตัด ซึ่งถือว่าเป็นอันสิ้นสุดขั้นตอนในการปรึกษาแพทย์
- ในกรณีที่ไม่มีโรคประจำตัว คุณจะสามารถเข้ารับการผ่าตัดได้เลยในวันที่คุณเข้ารับการปรึกษา ซึ่งทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับตารางเวลาของ พญ.วิทัศศนาด้วย เว้นแต่ว่าคุณได้จองวันและเวลาในการผ่าตัดเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว ทั้งนี้คุณสามารถทำการจองการผ่าตัดผ่านระบบออนไลน์ได้
Q : หากกำลังอยู่ในช่วงมีประจำเดือน สามารถทำการผ่าตัด รีแพร์ ด้านหน้าและด้านหลังผนังช่องคลอด ได้หรือไม่?
- ในช่วงระหว่างมีประจำเดือนไม่ควรทำการผ่าตัด ทั้งนี้การผ่าตัดหลังช่วงประจำเดือนหมด 1-2 สัปดาห์เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด
Q : ในวันที่เข้ารับการผ่าตัด สิ่งที่ควรนำมาด้วย และกิจกรรมที่ต้องทำก่อนเข้ารับ การผ่าตัด รีแพร์ ด้านหน้าและด้านหลังผนังช่องคลอด?
- ควรอาบน้ำ, สระผมและทำความสะอาดร่างกายให้เรียบร้อย ก่อนมาที่โรงพยาบาล
- คุณอาจต้องนำชุดสวมใส่สบายสำหรับตอนกลางวัน มาเปลี่ยนสำหรับใส่ตอนกลับบ้าน รวมทั้งชุดชั้นในและผ้าอนามัยแผ่นบางด้วย
- ในวันนัดผ่าตัดกรณีที่คุณมีข้อสงสัยต้องการพบแพทย์ คุณจะได้พบกับ แพทย์หญิง วิทัศศนา เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับข้อสงสัยของการผ่าตัดอีกครั้ง โปรดสอบถามข้อสงสัยและรายละเอียดอื่นๆ กรณีไม่แน่ใจ, กังวลมากหรือไม่มั่นใจ เนื่องจากเหตุผลใดๆก็ตามเกี่ยวกับการผ่าตัด ควรเลื่อนการผ่าตัดไปก่อน
Q : ขั้นตอนการเตรียมตัวก่อน การผ่าตัด รีแพร์ ด้านหน้าและด้านหลังผนังช่องคลอด หลังจากการปรึกษาแพทย์ มีอะไรบ้าง?
- กรณีที่คุณไม่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการผ่าตัด และไม่มีโรคประจำตัว ก่อนการผ่าตัดคุณจะต้องกรอกเอกสารแสดงความยินยอมเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งจะถือเป็นใบอนุญาตให้ทางเจ้าหน้าที่และแพทย์ สามารถทำการผ่าตัดคุณได้ จากนั้นพยาบาลของ ศูนย์ศัลยกรรมตกแต่งทางนรีเวช จะอธิบายขั้นตอนก่อนการทำผ่าตัดและแนะนำวิธีการดูแลแผลผ่าตัดหลังการทำผ่าตัดโดยละเอียด โปรดสอบถามข้อสงสัยอื่นๆ รวมทั้งรายละเอียดของใบเซ็นแสดงความยินยอมก่อนเข้ารับการผ่าตัด หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะนำคุณไปชำระค่าบริการการผ่าตัดทั้งหมดที่แคชเชียร์
- หลังจากเสร็จจากขั้นตอนการชำระค่าบริการ เจ้าหน้าที่จะนำคุณไปยังตึกผู้ป่วยใน เพื่อเตรียมตัวก่อนเข้าห้องผ่าตัด เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบข้อมูลของคุณ (ชื่อ-นามสกุล, วันเกิด) และนำคุณไปที่ห้องพัก รวมทั้งจะช่วยเหลือคุณ ในการเปลี่ยนเสื้อผ้าเพื่อใส่ชุดคลุมผ่าตัด และมอบสายรัดข้อมือ สำหรับระบุตัวตนให้กับคุณ จากนั้นเจ้าหน้าที่พยาบาลจะทำการตรวจสอบข้อมูลพื้นฐานต่างๆ และสัญญาณชีพได้แก่ อุณหภูมิ, การหายใจ, ความดันโลหิตและชีพจร ในกรณีที่คุณม่มีโรคประจำตัวและไม่ได้รับการประเมินสุขภาพจากอายุรแพทย์ ก็จะต้องมีการเจาะเลือด เพื่อส่งตรวจทางเคมีขั้นพื้นฐาน รวมทั้งต้องมีการตรวจคลื่นหัวใจและเอ็กซเรย์ปอด ในผู้ต้องการเข้ารับการผ่าตัดที่มีอายุมากกว่า 45 ปี
- หลังจากนั้นคุณจะได้พบกับวิสัญญีแพทย์ ซึ่งวิสัญญีแพทย์จะทำการประเมินสุขภาพของคุณโดยรวมอีกครั้ง คุณจะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการให้ยาระงับความรู้สึกขณะทำผ่าตัดโดยละเอียด โปรดสอบถามข้อสงสัยอื่นๆ รวมทั้งรายละเอียดของการให้ยาระงับปวดหลังการผ่าตัด
- หากคุณทาเล็บ อาจจำเป็นต้องล้างออกก่อนเข้าห้องผ่าตัด คุณต้องถอดคอนแทคเลนส์, แว่นตาและฟันปลอมออก รวมทั้งต้องถอดเครื่องประดับออกทุกชิ้น หากว่ามีชิ้นใดที่ไม่สามารถถอดออกได้ จะมีการแปะเทปกาวเอาไว้เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยา กรณีที่มีการใช้เครื่องจี้ไฟฟ้า
- ก่อนเข้าห้องผ่าตัด คุณจะได้รับการฉีดยาปฏิชีวนะภายในหนึ่งชั่วโมงก่อนการการทำหัตถการ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการติดเชื้อของแผลผ่าตัด
หลังจากเสร็จสิ้นการเตรียมการเหล่านี้แล้ว เจ้าหน้าที่จะนำคุณไปยังบริเวณห้องผ่าตัด ซึ่งคุณจะได้รับการดูแลต่อโดยทีมเจ้าหน้าที่วิสัญญี ในระหว่างที่รอเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าห้องผ่าตัด
Q : สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจาก การผ่าตัด รีแพร์ ด้านหน้าและด้านหลังผนังช่องคลอด?
- หลังเสร็จจากการผ่าตัด เจ้าหน้าที่จะนำคุณไปส่งยังห้องพักฟื้น เพื่อสังเกตอาการหลังการผ่าตัด 1-2 ชั่วโมง หรือจนกระทั่งฤทธิ์ของการดมยาสลบทุเลาลง เจ้าหน้าที่จะนำคุณไปนอนพักต่อที่ห้องพักฟื้นที่ตึกผู้ป่วยใน
- คุณอาจจะมีอาการมึนงง เวียนศีรษะ หรือคลื่นไส้อาเจียน จากการดมยาสลบ ภาวะนี้จะดีขึ้นได้เอง เมื่อระดับยาในร่างกายลดลง
- จะมีการสอดสายสวนปัสสาวะสำหรับการขับถ่ายปัสสาวะออกจากกระเพาะปัสสาวะของคุณ ซึ่งสายสวนปัสสาวะจะถูกถอดออก ประมาณ 3-5 วันหลังการผ่าตัด
- จะมีการใช้ม้วนผ้าพันแผลสอดเข้าไปในช่องคลอด เพื่อช่วยซับเลือดและช่วยห้ามเลือด ซึ่งจะถูกดึงออกจากช่องคลอด 24 ชั่งโมงหลังการผ่าตัด
- คุณจะสามารถเดินไปมาได้รอบๆ เตียงภายใน 3-5 วันแรกหลังจากการผ่าตัด และหลังการผ่าตัด 3-5 คุณจะได้รับอนุญาตให้สามารถอาบน้ำได้ตามปกติ
:: หัวข้อที่น่าสนใจ ::
รีแพร์-ขนาดใครคิดว่าไม่สำคัญ
รีแพร์ – รีเทิร์นความสาว-10 คำถาม
ปัญหาทั่วไปของอวัยวะเพศภายนอกของผู้หญิง
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ ตกแต่งช่องคลอด – รีแพร์
Q : ระดับความเจ็บปวดหลัง การผ่าตัด รีแพร์ ด้านหน้าและด้านหลังผนังช่องคลอด?
- ระดับความเจ็บปวดขึ้นอยู่กับความอดทนของแต่ละคน ซึ่งแต่ละคนจะรู้สึกเจ็บปวดแตกต่างกัน
- ใน 24 ชั่วโมงแรกหลังการผ่าตัด กรณีที่คุณมีอาการปวดแผลหลังการผ่าตัดในช่วงเวลาที่คุณยังไม่ได้ทานอาหาร พยาบาลจะฉีดยาแก้ปวดให้กับคุณ และเมื่อคุณเริ่มทานอาหาร คุณจะได้รับยาแก้ปวดชนิดรับประทานทุก 6 ชั่วโมง ดังนั้นคุณควรจะนอนพักจนกว่าอาการปวดจะดีขึ้น
Q : หลังการผ่าตัด รีแพร์ ด้านหน้าและด้านหลังผนังช่องคลอด ดิฉันจะต้องอยู่ที่โรงพยาบาลนานเท่าไร และดิฉันสามารถมีกิจกรรมทางเพศได้อีกครั้งเมื่อไร?
- คุณต้องอยู่พักฟื้น-นอนพักที่โรงพยาบาลเป็นเวลา 3-5 วัน โดย พญ.วิทัศศนา จะเข้าเยี่ยมและตรวจแผลทุกวันก่อนที่จะอนุญาตให้คุณกลับบ้านได้
- คุณสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้อีกครั้งหลัง 6-8 สัปดาห์หลังการผ่าตัด เมื่อแผลผ่าตัดหายสนิท
Q : หลังการผ่าตัด รีแพร์ ด้านหน้าและด้านหลังผนังช่องคลอด สามารถขับรถได้เมื่อไร กิจกรรมใดที่ควรหลีกเลี่ยง?
- คุณควรประเมินความเจ็บปวด และความสามารถในการขับขี่ยานพาหนะหลังการผ่าตัดด้วยตัวคุณเอง ว่าคุณสามารถนั่งบนเบาะได้อย่างสบาย และสามารถเหยียบเบรคได้อย่างคล่องแคล่วหรือไม่
- ควรหลีกเลี่ยงการยกของหนัก และไม่ควรทำการสวนล้างช่องคลอดหรือฉีดน้ำเข้าในช่องคลอด ในช่วง 6-8 สัปดาห์หลังการผ่าตัด
- หลีกเลี่ยงอาการไอ เพื่อป้องกันการกระทบกระเทือนที่แผลผ่าตัด หากมีอาการไอ ควรรีบพบแพทย์ เพื่อให้การดูแลรักษาเพื่อบรรเทาอาการโดยเร็ว
- คุณสามารถอาบน้ำชำระร่างกายได้ แต่ไม่ควรอาบในอ่างอาบน้ำ หรือทำกิจกรรมว่ายน้ำทั้งในสระน้ำและในทะเล ในช่วงเวลา 6-8 เดือนหลังการผ่าตัด
Q : การผ่าตัด รีแพร์ ด้านหน้าและด้านหลังผนังช่องคลอด การผ่าตัดมีความเสี่ยงอะไรบ้าง?
สิ่งหนึ่งที่คุณควรทราบไว้คือ “ไม่มีการผ่าตัดใดที่ไม่มีความเสี่ยง” และความเสี่ยงเหล่านั้นรวมถึง
- อาการเลือดออก
- อาการปัสสาวะลำบาก (ปัสสาวะไม่ออก)
- ภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำ เนื่องจากการนอนพักและการลดการเคลื่อนไหวหลังการผ่าตัดเป็นเวลานาน
- การผ่าตัดสร้างความเสียหายต่อกระเพาะปัสสาวะ และมีผลกระทบรบกวนการทำงานของระบบทางเดินปัสสาวะ (เกิดขึ้นได้ในการทำศัลยกรรมรีแพร์ผนังช่องคลอดด้านหน้า)
- หลังการผ่าตัด ทำให้มีเลือดคั่งหรือมีห้อเลือดด้านบนหรือด้านข้างของช่องคลอดหรืออวัยวะเพศ และอาจทำให้เกิดภาวะติดเชื้อได้
- เจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ทำศัลยกรรมรีแพร์ผนังช่องคลอดทั้งด้านหน้าและด้านหลังพร้อมกัน
- มีโอกาส 30% ที่จะต้องทำการผ่าตัดซ้ำอีก ซึ่งสามารถป้องกันได้ โดยการพักผ่อนอย่างเพียงพอหลังการผ่าตัดตามที่ได้รับคำแนะนำ, หลีกเลี่ยงการยกของหนัก, การไอ และอาการท้องผูกหลังการผ่าตัด
Q : ประโยชน์หลักๆ ของการทำผ่าตัด รีแพร์ ผนังช่องคลอดด้านหน้าและด้านหลัง มีอะไรบ้าง?
- การทำศัลยกรรมรีแพร์ผนังช่องคลอดด้านหน้าและด้านหลัง สามารถแก้ไขภาวะช่องคลอดหย่อนคล้อย หรือภาวะกระบังลมหย่อนให้ดีขึ้น ช่วยบรรเทาอาการต่างๆ ที่เกิดเนื่องจากภาวะดังกล่าว เช่น รู้สึกปวดถ่วง รวมทั้งความรู้สึกที่มีก้อนจุกอยู่ภายในช่องคลอด
Q : ในการผ่าตัด รีแพร์ ด้านหน้าและด้านหลังผนังช่องคลอด ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นหลังจากออกจากการโรงพยาบาลแล้ว มีอะไรบ้าง?
- อาจมีเลือดออกมากผิดปกติจากแผลผ่าตัด, ปัสสาวะไม่ออก หรือมีอาการปวดมากที่บริเวณแผลผ่าตัด หากมีอาการดังกล่าวนี้นี้ ควรแจ้งให้ทาง ศูนย์ศัลยกรรมตกแต่งทางนรีเวชทราบทันที
- อาจมีกลิ่นไม่พึงประสงค์จากอวัยวะเพศ ซึ่งเกิดจากการที่มีเนื้อเยื่อและเซลล์ที่ตายแล้วตกค้างอยู่ภายในช่องคลอด ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้หลังการผ่าตัด อย่างไรก็ตาม คุณสามารถกลับมาพบ พญ. วิทัศศนา เพื่อทำการตรวจภายในได้ หากภาวะดังกล่าวนี้สร้างความรำคาญให้กับคุณ
Q : หลังการผ่าตัด รีแพร์ ด้านหน้าและด้านหลังผนังช่องคลอด สิ่งที่ควรปฏิบัติระหว่างช่วงระยะฟื้นฟู มีอะไรบ้าง?
- รับประทานอาหารที่ช่วยบำรุงสุขภาพ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ รับประทานอาหารจำพวกผัก และผลไม้สด เพื่อหลีกเลี่ยงอาการท้องผูก และรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
Q : หลังการผ่าตัด รีแพร์ ด้านหน้าและด้านหลังผนังช่องคลอด มีปัญหาอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้น ที่ผู้เข้ารับการผ่าตัดจำเป็นต้องแจ้งให้ทาง ศูนย์ศัลยกรรมตกแต่งทางนรีเวช ทราบอีกหรือไม่?
- มีไข้สูง หนาวสั่น โดยไม่ทราบสาเหตุ
- ท้องผูกชนิดรุนแรง ไม่สามารถขับถ่ายอุจจาระได้
- มีอาการปวด และบวมที่ขาหรือต้นขา ข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง
- ปัสสาวะลำบาก, ปัสสาวะไม่ออก, ปัสสาวะแสบขัดหรือปัสสาวะมีเลือดปน
หากคุณต้องการรู้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ การผ่าตัด รีแพร์ ผนังช่องคลอดด้านหน้าและด้านหลัง หรือต้องการนัดเวลาพบแพทย์เพื่อเข้ารับการปรึกษา โปรดอย่าลังเลที่จะ ติดต่อเรา