การผ่าตัด ตกแต่งด้านหน้าและด้านหลังช่องคลอด แบบเสริมแผ่นพยุง คืออะไร?
การผ่าตัด ตกแต่งด้านหน้าและด้านหลังผนังช่องคลอด แบบเสริมแผ่นพยุง คือ วิธีการผ่าตัดแก้ไขภาวะอุ้งเชิงกรานหย่อน “อย่างรุนแรง” โดยหวังผลการผ่าตัด เพื่อนำเนื้อเยื่อและอวัยวะในอุ้งเชิงกรานที่หย่อนยานให้กลับเข้าสู่ตำแหน่งเดิม โดยการผ่าตัดแทนที่ผนังช่องคลอดและเนื้อเยื่อรอบช่องคลอด ด้วยแผ่นพยุงที่ทำจากวัสดุสังเคราะห์ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของผนังช่องคลอดขึ้นมาใหม่
เป็นการผ่าตัดโดยการใช้แผ่นพยุง เพื่อช่วยเสริมความแข็งแรงของเนื้อเยื่อของผนังช่องคลอดที่หย่อนยาน ทั้งด้านหน้าและด้านหลังของผนังช่องคลอด ซึ่งจะช่วยให้อาการที่เกิดจาก ภาวะอุ้งเชิงกรานหย่อนชนิดรุนแรง ที่มีภาวะกระเพาะปัสสาวะและภาวะลำไส้ใหญ่หรือลำไส้ตรงหย่อนให้ดีขึ้น และในขณะเดียวกันก็จะช่วยทำให้ผนังช่องคลอดแข็งแรงขึ้นด้วย
การศึกษาต่างๆ แสดงให้เห็นว่าแผ่นพยุงมีประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก ถ้านำมาใช้อย่างถูกต้อง ทั้งนี้คุณต้องทำการประเมินและปรึกษาแพทย์ให้แน่ใจก่อนว่า การผ่าตัดนี้ มีประโยชน์ต่อคุณจริงๆหรือไม่
1) ข้อควรทราบและการเตรียมตัว ก่อนการผ่าตัด ตกแต่งด้านหน้าและด้านหลังช่องคลอด แบบเสริมแผ่นพยุง
- GYNECARE GYNEMESH ® PS เป็นแผ่นพยุงที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของโครงสร้างของผนังช่องคลอด ที่พยุงอวัยวะต่างๆ ที่อยู่ในอุ้งเชิงกราน เป็นวัสดุสังเคราะห์ ที่สามารถละลายได้บางส่วน แผ่นพยุงตาข่ายจะเป็นตัวเชื่อมสำหรับการผ่าตัดแก้ไขข้อบกพร่องของเนื้อเยื่อ จึงมีการนำมาใช้ในการผ่าตัดแก้ไขภาวะอุ้งเชิงกรานหย่อน “อย่างรุนแรง” (POP-Q ระดับ 3 ถึง 4)
- วัตถุประสงค์ของการผ่าตัด เป็นการผ่าตัดเพื่อแก้ไขภาวะอุ้งเชิงกรานหย่อนในระยะยาว โดยหวังผลเพื่อป้องกันการกลับเป็นซํ้าอีกหลังการผ่าตัด ที่ศูนย์ศัลยกรรมตกแต่งทางนรีเวช (ศูนย์จุดซ่อนเร้น) ของเรา ไม่แนะนําให้ทําการผ่าตัด ในผู้ป่วยในวัยเจริญพันธ์ที่ยังมีเพศสัมพันธ์ เพราะมีโอกาสเกิดแผ่นพยุงยื่น หรือโผล่ออกมาที่ช่องคลอดสูง จะพิจารณาทําผ่าตัดเฉพาะผู้ป่วยอายุมาก และไม่มีเพศสัมพันธ์แล้ว
- ในการตัดสินใจทําการผ่าตัด ผู้ป่วยต้องพิจารณาอย่างละเอียด เปรียบเทียบผลดีและผลเสียที่จะได้รับหากไม่ทำการผ่าตัด และผู้ป่วยต้องแน่ใจว่าเข้าใจในวัตถุประสงค์ในการผ่าตัด รวมทั้งผู้ป่วยที่ต้องการผ่าตัด ต้องศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการผ่าตัดโดยละเอียด โปรดถามในข้อสงสัยต่างๆ ที่ยังไม่เข้าใจ ก่อนการตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัด
- ในช่วงของการปรึกษาผู้ป่วยจะได้พบกับ แพทย์หญิง วิทัศศนา ผู้ป่วยจะได้รับการซักประวัติและตรวจภายใน กรณีที่มีการติดเชื้ออยู่ในช่องคลอด เช่น เชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรีย ควรรักษาภาวะติดเชื้อในช่องคลอดให้หายก่อนทำการผ่าตัด
- หลังการตรวจภายใน ผู้ป่วยจะได้รับการอธิบาย เกี่ยวกับพยาธิสภาพความหย่อนยานของช่องคลอดก่อนการผ่าตัด, ข้อมูลเกี่ยวกับการผ่าตัด, การให้ยาระงับความรู้สึกขณะทำการผ่าตัด, ประโยชน์หรือผลลัพธ์ที่จะได้รับจากการทำผ่าตัด, ทางเลือกในการรักษา และรายละเอียดเกี่ยวกับการพักฟื้นหลังการผ่าตัด รวมทั้งจะมีการแจ้ง ราคาค่าใช้จ่าย ก่อนการตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัด
- หลังจากนั้นผู้ป่วยจะได้รับการอธิบายเกี่ยวกับ ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนทั่วไปของการผ่าตัด ได้แก่ ภาวะเลือดออก, ภาวะแผลติดเชื้อ, ภาวะแผลผ่าตัดแยก, ความเจ็บปวดหลังการผ่าตัด, การแพ้ยาหรือสารอื่นๆที่ใช้ในการผ่าตัด, การเกิดตกขาวมากผิดปกติ, การเกิดเชื้อราในช่องคลอด และภาวะแทรกซ้อนจำเพาะของการผ่าตัดได้แก่ ภาวะปัสสาวะลําบาก, ภาวะปัสสาวะไม่ออกหลังกลับไปบ้าน, การเกิดรูรั่วระหว่างกระเพาะปัสสาวะกับช่องคลอด หรือการเกิดรูรั่วระหว่างลําไส้กับช่องคลอด, อาการปวดช่องคลอด ขา และ/หรือสะโพก, อาการปวดในระหว่างการมีกิจกรรมทางกายภาพ, การเกิดภาวะแผ่นพยุงโผล่ หรือยื่นออกจากผนังช่องคลอดหลังการผ่าตัด
- การผ่าตัดนี้มีข้อจำกัด ไม่สามารถรับประกันผลลัพธ์และความพึงพอใจ ในผู้ป่วยแต่ละคนได้ทั้งหมด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพื้นฐานเดิมของผู้เข้ารับการผ่าตัด ได้แก่ กรณีมีภาวะอุ้งเชิงกรานหย่อนร่วมกับมีมดลูกหย่อนด้วย อาจจำเป็นต้องทำผ่าตัดมดลูกออกทางช่องคลอดร่วมด้วย และนอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับโรคประจำตัวของผู้ป่วย เพราะโรคประจำตัวบางชนิด ส่งผลต่อกระบวนการหายของแผลผ่าตัด รวมทั้งยังขึ้นอยู่กับการดูแลแผลผ่าตัดที่ถูกต้องของผู้ป่วย ในการป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด ซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัยเกินการควบคุมของแพทย์ ซึ่งแพทย์จะแจ้งให้ผู้ป่วยรับทราบก่อนการผ่าตัด
- ทั้งนี้อาจจะเกิดจากสาเหตุใดๆ ก็ตาม ที่ทําให้การผ่าตัดมีผลคลาดเคลื่อนเกิดขึ้น การผ่าตัดแก้ไขก็อาจทำได้ โดยการพิจารณาตามความเหมาะสมและความเป็นไปได้ ทั้งนี้ผู้ป่วยและแพทย์ควรจะปรึกษาร่วมกัน ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับการผ่าตัดแก้ไขต่อเนื่อง ภายในระยะเวลา 6 เดือนหลังการผ่าตัด โดยเสียค่าใช้จ่ายเฉพาะค่ายา, ค่าห้องและค่าใช้จ่ายทางวิสัญญีตามจริง
แผ่นพยุง gynecare mesh-
ที่ใช้ในการผ่าตัดตกแต่งด้านหน้าและด้านหลังช่องคลอด แบบเสริมแผ่นพยุง
- บริเวณที่ทำการผ่าตัด มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เนื่องจากภาวะเลือดออกมากผิดปกติในระหว่างผ่าตัดหรือหลังการผ่าตัดได้ เพราะเป็นการผ่าตัดในบริเวณที่มีเส้นเลือดค่อนข้างมาก ภาวะเลือดออกผิดปกติ อาจพบได้ประมาณน้อยกว่าร้อยละ 1 แต่เป็นภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย ดังนั้นผู้ป่วยควรหยุดรับประทานยา ในกลุ่มแอสไพริน หรือกลุ่มยาลดการแข็งตัวของเลือด 10-15 วัน ก่อนหรือหลังการผ่าตัด
- อีกทั้งบริเวณที่ทำการผ่าตัด มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เนื่องจากภาวะแผลแยกได้ค่อนข้างมาก เนื่องจากแผลผ่าตัดอยู่ในบริเวณที่จะได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนไหว ผู้ป่วยควรจะต้องหยุดทำงาน และงดกิจกรรมต่างๆ ที่เคยทำเป็นประจำในช่วง 5-7 วันแรกหลังการผ่าตัด รวมทั้งในส่วนแพทย์ที่ทำผ่าตัดจำเป็นต้องมีความระมัดระวังในการผ่าตัด และมีเทคนิคการเย็บแผลผ่าตัดที่ดี ในการป้องกันการเกิดภาวะแผลแยก
- นอกจากนี้ในการผ่าตัดนี้บริเวณที่ทำผ่าตัด มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน จากการอักเสบและการติดเชื้อของแผลผ่าตัด ซึ่งทำให้เกิดภาวะแผลแยกได้ เนื่องจากแผลผ่าตัดอยู่บริเวณที่อับชื้น รวมทั้งอยู่ใกล้ทางเดินปัสสาวะและทางเดินอุจจาระ ซึ่งมีแบคทีเรียชนิดต่างๆ ที่อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อได้ ดังนั้นการป้องกันการติดเชื้อแล้วเกิดแผลแยก โดยการฉีดยาปฏิชีวนะก่อนการผ่าตัด และการรับประทานยาปฏิชีวนะให้ครบหลังการผ่าตัดเป็นสิ่งสําคัญ
- เมื่อพร้อมที่จะเข้ารับการผ่าตัด โปรดโทรแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อนัดวันผ่าตัด การผ่าตัดนี้ทำผ่าตัดโดยการดมยาสลบ ผู้ป่วยต้องงดน้ำและอาหาร ก่อนทำการผ่าตัดอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง เพื่อลดความเสี่ยงในการสำลักเศษอาหาร ในระหว่างหรือหลังจากการทำผ่าตัด
ใครที่ไม่แนะนำให้ทำการผ่าตัด และต้องปรึกษแพทย์ก่อนการผ่าตัด ตกแต่งด้านหน้าและด้านหลังช่องคลอด แบบเสรืมแผ่นพยุง
2) ขั้นตอนก่อนการผ่าตัด ในวันนัดผ่าตัด ตกแต่งด้านหน้าและด้านหลังช่องคลอด แบบเสริมแผ่นพยุง
- ในกรณีผู้ที่ผู้ต้องการเข้ารับการผ่าตัด ไม่มีโรคประจำตัว แต่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการผ่าตัด คุณจะได้พบกับ แพทย์หญิง วิทัศศนา เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับข้อสงสัยในการผ่าตัดอีกครั้ง โปรดสอบถามข้อสงสัยและรายละเอียดอื่นๆ กรณีไม่แน่ใจหรือกังวลมาก เนื่องจากเหตุผลใดๆ ก็ตามเกี่ยวกับการผ่าตัด ควรเลื่อนการผ่าตัดไปก่อน
- กรณีที่ผู้ต้องการเข้ารับการผ่าตัด ไม่มีโรคประจำตัว ไม่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการผ่าตัด ผู้ต้องการเข้ารับการผ่าตัดจะต้องกรอกเอกสารแสดงความยินยอมเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งจะถือเป็นใบอนุญาต ให้ทางเจ้าหน้าที่และแพทย์สามารถทำการผ่าตัดคุณได้ จากนั้นพยาบาลจะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัด โปรดสอบถามข้อสงสัยอื่นๆ ก่อนเข้ารับการผ่าตัด
- ในกรณีผู้ต้องการเข้ารับการผ่าตัด มีโรคประจำตัว ซึ่งอายุรแพทย์ประเมินแล้วพบว่าคุณสามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ คุณจำเป็นต้องปรึกษาวิสัญญีแพทย์ ซึ่งคุณจะได้รับคำแนะนำ เกี่ยวกับขั้นตอนก่อนการเข้ารับการผ่าตัด และการให้ยาระงับความรู้สึกขณะทำผ่าตัดอย่างคร่าวๆ โปรดสอบถามข้อสงสัยอื่นๆ จากนั้นคุณจะต้องกรอกเอกสารแสดงความยินยอมเข้ารับการผ่าตัด
- หลังเสร็จจากเอกสารแสดงความยินยอมเข้ารับการผ่าตัด จากนั้นเจ้าหน้าที่จะนำผู้ต้องการเข้ารับการผ่าตัด ไปชำระค่าบริการการผ่าตัดทั้งหมดที่แคชเชียร์ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะนำคุณไปยังตึกผู้ป่วยใน เพื่อเตรียมตัวก่อนเข้าห้องผ่าตัด เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบข้อมูล ชื่อ-นามสกุล,วันเกิด และนำคุณไปที่ห้องพัก รวมทั้งจะช่วยเหลือในการเปลี่ยนเสื้อผ้าเพื่อใส่ชุดคลุมผ่าตัด และมอบสายรัดข้อมือ สำหรับระบุตัวตนให้กับคุณ
- จากนั้นเจ้าหน้าที่พยาบาลจะทำการตรวจสอบข้อมูลพื้นฐานต่างๆ รวมทั้งสัญญาณชีพ ได้แก่ อุณหภูมิ, การหายใจ, ความดันโลหิตและชีพจร ในกรณีผู้ต้องการเข้ารับการผ่าตัด ไม่มีโรคประจำตัว และไม่ได้รับการประเมินสุขภาพจากอายุรแพทย์ จำเป็นต้องมีการเจาะเลือด เพื่อส่งตรวจทางเคมีขั้นพื้นฐาน รวมทั้งต้องมีการตรวจคลื่นหัวใจและเอ็กซเรย์ปอด ในผู้ต้องการเข้ารับการผ่าตัดที่มีอายุมากกว่า 45 ปี
- หลังจากนั้นวิสัญญีแพทย์จะทำการประเมินสุขภาพของผู้ต้องการเข้ารับการผ่าตัดโดยรวมอีกครั้ง ทั้งนี้ผู้ต้องการเข้ารับการผ่าตัดจะได้รับทราบข้อมูล เกี่ยวกับการให้ยาระงับความรู้สึกขณะทำผ่าตัดโดยละเอียดจากวิสัญญีแพทย์ โปรดสอบถามข้อสงสัยอื่นๆ รวมทั้งรายละเอียดของการให้ยาระงับปวดหลังการผ่าตัด
- กรณีผู้ต้องการเข้ารับการผ่าตัด ต้องการฝากเครื่องประดับและของมีค่า รวมทั้งโทรศัพท์มือถือ ซึ่งคุณสามารถฝากของได้ที่แคชเชียร์ ทั้งนี้คุณสามารถรับของมีค่าได้ทั้งหมดก่อนออกจากโรงพยาบาล
- หลังจากเสร็จสิ้นการเตรียมการเหล่านี้แล้ว เจ้าหน้าที่จะนำผู้ต้องการเข้ารับการผ่าตัดไปยังบริเวณห้องผ่าตัด ซึ่งคุณจะได้รับการดูแลต่อโดยทีมเจ้าหน้าที่วิสัญญี และจะได้รับการฉีดยาปฏิชีวนะภายในหนึ่งชั่วโมงก่อนการทำผ่าตัด ทั้งนี้เพื่อป้องกันการติดเชื้อของแผลผ่าตัด
หลังจากเสร็จสิ้นการเตรียมการเหล่านี้แล้ว เจ้าหน้าที่ของห้องผ่าตัดจะนำผู้ต้องการเข้ารับการผ่าตัดไปยังห้องผ่าตัด ซึ่งคุณจะได้รับการดูแล โดยเจ้าหน้าที่พยาบาลประจำห้องผ่าตัดต่อไป
3) ขั้นตอนการผ่าตัด ตกแต่งด้านหน้าและด้านหลังช่องคลอด แบบเสริมแผ่นพยุง
- ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง – 3 ชั่วโมง โดยการดมยาสลบ เมื่อผู้ป่วยหลับแพทย์จึงจะทําการผ่าตัด โดยเริ่มจากการผ่าตัดเลาะเปิดผนังช่องคลอดทางด้านหน้าของช่องคลอด แล้ววางแทนที่เนื้อเยื่อผนังช่องคลอดที่หย่อนยานด้วยแผ่นพยุงวัสดุสังเคราะห์ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของผนังช่องคลอดด้านหน้าขึ้นมาใหม่ จากนั้นผนังช่องคลอดจะถูกเย็บปิดด้วยไหมละลายช้า ตลอดความยาวทั้งหมดของผนังช่องคลอดทางด้านหน้า–โดยทําการเย็บทั้งหมด 2 หรือ 3 ชั้น แล้วแต่ความเหมาะสม และเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากแผลแยก ที่จะทําให้เกิดภาวะเลือดออกผิดปกติ–รวมทั้งจะทำให้มองไม่เห็นหรือรู้สึกว่ามีแผ่นพยุงอยู่ในช่องคลอด
- หลังจากนั้นแพทย์ก็จะทําการผ่าตัดในกระบวนการเช่นเดียวกันทางด้านหลังของผนังช่องคลอด ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือจะทำให้ภาวะอุ้งเชิงกรานหย่อนคล้อยดีขึ้น และในขณะเดียวกันก็ทำให้ผนังช่องคลอดแข็งแรงขึ้นด้วย ผู้ป่วยจำเป็นต้องใส่ผ้ากอซ (vagina packing ) ไว้ในช่องคลอด 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัด เพื่อช่วยห้ามเลือด และทําให้ผนังช่องคลอดยึดติดกับแผ่นพยุง รวมทั้งผู้ป่วยจำเป็นต้องใส่สายสวนปัสสาวะไว้ 3 – 5 วันหลังการผ่าตัด
การผ่าตัดตกแต่งด้านหน้าช่องคลอด แบบเสริมแผ่นพยุง
การผ่าตัดตกแต่งด้านหลังช่องคลอด แบบเสริมแผ่นพยุง
4) ขั้นตอนหลังการผ่าตัด ตกแต่งด้านหน้าและด้านหลังช่องคลอด แบบเสริมแผ่นพยุง
หลังการผ่าตัด ตกแต่งด้านหน้าและด้านหลังช่องคลอด แบบเสริมแผ่นพยุง ผู้ป่วยจะได้รับการสังเกตอาการที่ห้องพักฟื้น 1-2 ชั่วโมง เมื่อผู้ป่วยรู้สึกตัวดี, สัญญาณชีพปกติ–วิสัญญีแพทย์จึงจะอนุญาตให้ผู้ป่วยกลับไปนอนพัก เพื่อสังเกตอาการต่อที่ตึกผู้ป่วยใน ผู้ป่วยอาจมีอาการมึนงง, เวียนศีรษะ, คลื่นไส้หรืออาเจียน จากการดมยาสลบ ภาวะนี้จะดีขึ้นได้เอง เมื่อระดับยาในร่างกายลดลง
ที่ตึกผู้ป่วยในผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัด จะได้รับยาปฏิชีวนะ, ยาแก้อักเสบ ที่ช่วยลดอาการปวดแผลผ่าตัด, ยาพาราเซตามอล ช่วยแก้ปวด และยาระบาย เพื่อป้องกันภาวะท้องผูก กรณีผู้ป่วยมีอาการปวดแผลมากไม่ดีขึ้นหลังการรับประทานยาแก้ปวด กรุณาแจ้งพยาบาล เพื่อขอรับยาแก้ปวดชนิดฉีด เพื่อบรรเทาอาการปวด
ในระยะ 2-3 วันแรกการหลังผ่าตัด ผู้ป่วยอาจมีความรู้สึกปวดที่บริเวณแผลผ่าตัด และอาจมีความรู้สึกปวดเบ่งอยากถ่ายอุจจาระตลอดเวลา เนื่องจากการผ่าตัดมีการเย็บผนังด้านหลังของช่องคลอดส่วนล่าง (หรือบริเวณฝีเย็บ) กับทวารหนัก ที่มีหูรูดทวารหนักอยู่ ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรนอนพัก เพื่อลดอาการปวดอันเนื่องมาจากการอักเสบของแผลผ่าตัด และควรหลีกเลี่ยงการเบ่งถ่ายอุจจาระ เนื่องจากภาวะท้องผูก โดยการรับประทานยาระบาย
หลังการผ่าตัดมีความจำเป็นที่จะต้องใส่สายสวนปัสสาวะคาไว้ โดยเฉพาะในระยะ 3-5 วันแรกหลังการผ่าตัด เพื่อป้องกันไม่ให้มีปัสสาวะคั่งค้าง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะทางเดินปัสสาวะอักเสบ อันเนื่องมาจากภาวะปัสสาวะลำบากหลังการผ่าตัด ซึ่งเกิดจากภาวะตึงตัวของกล้ามเนื้อบริเวณรอบปากช่องคลอด หลังจากการผ่าตัดในระยะแรก หลังจากนั้นเมื่อภาวะตึงตัวของกล้ามเนื้อรอบปากช่องคลอดลดลง ผู้ป่วยจะสามารถปัสสาวะได้เองตามปกติ
ในระยะ 3-5 วันแรกหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยไม่ควรอาบน้ำ เพื่อป้องกันการติดเชื้อของแผลผ่าตัด (อาจใช้การเช็ดตัวไปก่อน) ซึ่งการทำความสะอาดบริเวณแผลผ่าตัดหลังการถ่ายอุจจาระ สามารถทำได้โดยล้างผ่านน้ำเปล่าแล้วซับเบาๆให้แห้ง
หลังการผ่าตัด 3-5 วัน ผู้ป่วยจะได้รับการถอดสายสวนปัสสาวะ จากนั้นแพทย์หญิง วิทัศศนา จะทําการตรวจแผลผ่าตัดว่าไม่มีเลือดออกมากผิดปกติ และเมื่อมีการสอบถาม เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัดแล้ว ผู้ป่วยสามารถตอบได้ถูกต้อง รวมทั้งผู้ป่วยสามารถปัสสาวะได้เอง –แพทย์หญิง วิทัศศนา จึงจะอนุญาตให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้
ต้องการอ่านเพิ่ม
คำถามบ่อยเกี่ยวกับการผ่าตัด ตกแต่งช่องคลอด แบบเสริมแผ่นพยุง
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้หลังการ ผ่าตัดด้านหน้าและด้านหลังช่องคลอด แบบเสริมแผ่นพยุง
5) การดูแลหลังการผ่าตัด ตกแต่งด้านหน้าและด้านหลังช่องคลอด แบบเสริมแผ่นพยุง
เมื่อกลับบ้านหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจะได้รับยาปฏิชีวนะ, ยาระบาย, ยาแก้อักเสบและยาพาราเซตามอล ควรรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ ควรรับประทานให้ครบทั้งหมด
หลังการผ่าตัด 3-5 วัน ผู้ป่วยสามารถอาบน้ำได้ตามปกติ ผู้ป่วยควรทำความสะอาดแผลผ่าตัดบริเวณปากช่องคลอดด้วยการฟอกสบู่ขณะอาบน้ำ ในตอนเช้าและ/หรือก่อนนอนทุกครั้ง ไม่ควรพยายามทำความสะอาดในช่องคลอด โดยการล้วงเข้าไปในช่องคลอด หรือพยายามฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อเข้าไปในช่องคลอด
ผู้ป่วยควรจะต้องหยุดทำงานและงดกิจกรรมต่างๆ ที่เคยทำเป็นประจำ ซึ่งได้แก่ การเดิน, การขึ้นลงบันได ในระยะ 5-7 วันแรกหลังการผ่าตัด ก็จะช่วยให้แผลผ่าตัดไม่ถูกขยับไปมาเกือบตลอดเวลาหลังการผ่าตัด ซึ่งก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เนื่องจากภาวะแผลแยกหลังการผ่าตัดได้
อาจมีเลือดสีแดงจางๆ ออกจากช่องคลอด ในช่วง 1-2 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด ดังนั้นผู้ป่วยควรใส่ผ้าอนามัยแบบบาง เพื่อสังเกตปริมาณเลือดที่ออกจากช่องคลอด กรณีมีเลือดออกมากชุ่มผ้าอนามัย หรือมีเลือดออกเป็นก้อนสีแดงสด กรุณาโทรติดต่อโรงพยาบาลทันที เพื่อขอรับคำแนะนำ หรือกลับมาพบแพทย์ เพื่อตรวจแผลผ่าตัด
ในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยควรพยายามหลีกเลี่ยงความอับชื้นบริเวณแผลผ่าตัด เพื่อช่วยให้แผลผ่าตัดแห้งและหายเร็วขึ้น สำหรับการทำความสะอาดบริเวณบริเวณปากช่องคลอดหลังปัสสาวะ สามารถทำได้โดยการซับด้วยทิชชูเปียก (Sanitary Wipes) และหลังการถ่ายอุจจาระ โดยการล้างผ่านน้ำเปล่าแล้วซับเบาๆให้แห้ง
หลังการผ่าตัดอาจมีตกขาวสีเหลืองเข้ม หรือตกขาวมีสีคล้ายหนองนาน 6-8 สัปดาห์ เนื่องจากภายในช่องคลอดจะเต็มไปด้วยสารคัดหลั่งและแบคทีเรียต่างๆ ทําให้เกิดปฏิกิริยาต่อเนื้อเยื่อที่ผ่าตัดและไหมที่เย็บแผลผ่าตัดในช่องคลอด ทั้งนี้ต้องใช้เวลานาน 6-8 สัปดาห์แผลที่ผ่าตัดจึงจะติดดีและไหมจะละลายหมด ดังนั้นผู้ป่วยโปรดไม่ต้องกังวลใจ ยกเว้นในกรณีตกขาวมีกลิ่นเหม็น ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องได้รับยารับประทานเพิ่มเติม
หลังการผ่าตัดผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารได้ทุกชนิด แต่ควรยกเว้น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ของหมักดองและงดสูบบุหรี่ อย่างน้อย 15 วันหลังการผ่าตัด
6) วันนัดหมาย หลังการผ่าตัด ตกแต่งด้านหน้าและด้านหลังช่องคลอด แบบเสริมแผ่นพยุง ครั้งที่ 1
ควรมาพบแพทย์ตามนัด ทั้งนี้ แพทย์หญิง วิทัศศนา จะนัดตรวจแผลผ่าตัดครั้งแรกหลังการผ่าตัด 1-2 สัปดาห์ และให้คําแนะนําในการดูแลแผลผ่าตัดเพิ่มเติม รวมทั้งให้การตรวจรักษาในกรณีที่มีความผิดปกติหลังการผ่าตัด
7) การพักฟื้น หลังการผ่าตัด ตกแต่งด้านหน้าและด้านหลังช่องคลอด แบบเสริมแผ่นพยุง
วิธีการพักฟื้นหลังการผ่าตัด อาจจะแตกต่างกันออกไป ในผู้ป่วยแต่ละคน ในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัดบริเวณที่ทำการผ่าตัดยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ค่อนข้างมาก ดังนั้นผู้ป่วยควรจะค่อยๆ เริ่มกลับมาทำกิจกรรมทางกายภาพต่างๆ ที่ต้องใช้กำลังได้เล็กน้อย และยกของเบาๆ ได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมทางกายภาพที่ต้องเดินมากๆ และการขึ้นลงบันไดบ่อยๆ
บริเวณที่ทำการผ่าตัดอาจจะยังคงเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน ในช่วงหลังสัปดาห์ที่ 2 จนถึงสัปดาห์ที่ 4 หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมทางกายภาพต่างๆ ที่ต้องใช้กำลังปานกลางได้พอควร แต่ควรงดการออกกําลังกายทุกชนิด
ในช่วงหลังสัปดาห์ที่ 4 จนถึงสัปดาห์ที่ 6 หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ทางกายภาพที่ต้องใช้กำลังปานกลางได้มากขึ้น และผู้ป่วยสามารถออกกำลังกายที่ใช้แรงของลำตัวช่วงบนได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมทางกายภาพ ที่ต้องใช้กำลังกล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกราน ที่ส่งผลกระทบต่อแผลผ่าตัด เช่น การวิ่งออกกำลังกายหรือการเดินเร็ว, การแช่น้ำอุ่นในอ่างอาบน้ำ, การว่ายน้าออกกําลังกาย, การยกของหนัก, การขี่จักรยาน, การเล่นโยคะและการซิทอัพ
ในช่วงหลังสัปดาห์ที่ 6 หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ทางกายภาพที่ต้องใช้กำลังได้ตามปกติ รวมทั้งกิจกรรมทางกายภาพที่ต้องใช้กำลังกล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกราน แต่ทั้งนี้ผู้ป่วยควรงดการมีเพศสัมพันธ์หลังการผ่าตัด
8) วันนัดหมาย หลังการผ่าตัด ตกแต่งด้านหน้าและด้านหลังช่องคลอด แบบเสริมแผ่นพยุง ครั้งที่ 2
โดยทั่วไปจะมีการนัดตรวจแผลผ่าตัดครั้งที่ 2 หลังการผ่าตัด 6-8 สัปดาห์ เพื่อติดตามผลลัพธ์หลังการผ่าตัด และให้คําแนะนําในการงดการมีเพศสัมพันธ์หลังการผ่าตัด
ไหมที่ใช้เย็บแผล เป็นไหมที่ละลายช้าภายใน 6-8 สัปดาห์ แต่พบว่าในผู้ป่วยบางราย อาจใช้เวลานานมากกว่า 6-8 สัปดาห์ ไหมจึงจะละลายหมด ทำให้เกิดอาการระคายเคืองจากไหมที่ใช้เย็บในการผ่าตัด ในผู้ป่วยที่มีอาการคัน หรืออาการระคายเคืองมาก แนะนำให้รับประทานยาแก้แพ้ เพื่อช่วยบรรเทาอาการคัน
ราคาค่าผ่าตัด ตกแต่งด้านหน้าและด้านหลังช่องคลอด แบบเสริมแผ่นพยุง
ราคาผ่าตัดเหมาจ่ายนี้ ไม่รวมการตรวจสอบทางเคมีจำเพาะ และค่าปรึกษาแพทย์ทางอายุรกรรม ซึ่งจำเป็นในผู้ป่วยบางรายที่มีโรคประจำตัว และไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายกรณีที่มีการผ่าตัดแก้ไข เพื่อให้ผู้ป่วยพอใจผลลัพธ์ของการผ่าตัดตามที่ผู้ป่วยต้องการ
ในกรณีที่การผ่าตัดมีภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลรักษาต่อเนื่องจนกว่าภาวะดังกล่าวจะดีขึ้น โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ยกเว้นแต่ในกรณีเกิดภาวะแทรกซ้อน เกิดจากการปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัดไม่ถูกต้อง ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเองทั้งหมด ไม่ว่าจะรักษาเพิ่มเติมที่โรงพยาบาลใดก็ตาม
ปัจจุบันมีการนำเลเซอร์มาใช้ในการผ่าตัด ตกแต่งด้านหน้าและด้านหลังช่องคลอด แบบเสริมแผ่นพยุง ซึ่งส่งผลให้การผ่าตัดมีความแม่นยำ และเที่ยงตรงมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเลเซอร์สามารถควบคุมความความลึกของแผลผ่าตัดได้ ทําให้ช่วยลดการเสียเลือด รวมทั้งช่วยลดการทำลายเส้นเลือดที่มาเลี้ยงแผลผ่าตัด และเนื้อเยื่อที่อยู่ด้านล่างของแผลผ่าตัด ทําให้ส่งผลดีต่อกระบวนการหายของแผลผ่าตัด ทำให้การทำผ่าตัดด้วยเลเซอร์ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า เมื่อเทียบกับการทำผ่าตัดโดยใช้ใบมีดแบบดั้งเดิม
การผ่าตัด ตกแต่งด้านหน้าและด้านหลังช่องคลอด แบบเสริมแผ่นพยุง ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มของการผ่าตัดทางนรีเวชทางเดินปัสสาวะ ที่มีความละเอียดและซับซ้อนมากที่สุดชนิดหนึ่ง โดยต้องอาศัยความรู้, ความเข้าใจ, ทักษะและประสบการณ์ เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนหรือมีภาวะแทรกซ้อนน้อยที่สุด ศัลยแพทย์โดยส่วนมากมีประสบการณ์ทางด้านศัลยกรรมประเภทนี้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ดังนั้นผู้ป่วยจำเป็นต้องคำนึงถึงประสบการณ์ของแพทย์ที่จะทำการผ่าตัด