หลังการผ่าตัดตกแต่งปากช่องคลอด (ฝีเย็บ) โปรดทราบว่า ต่อให้แพทย์ทําการผ่าตัด–เย็บแผลผ่าตัดอย่างระมัดระวังเท่าใดก็ไม่มีประโยชน์ ถ้าแผลผ่าตัดเกิดการอักเสบและติดเชื้อ ผู้เข้ารับการผ่าตัด ตกแต่งปากช่องคลอด หรือ ผ่าตัดตกแต่งฝีเย็บ ต้องให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามคําแนะนําหลังการผ่าตัดโดยเคร่งครัด
5) การปฏิบัติตัวและดูแล หลังการผ่าตัดตกแต่งปากช่องคลอด (ฝีเย็บ)
เมื่อกลับบ้าน ผู้เข้ารับการผ่าตัด จะได้รับยาปฏิชีวนะ, ยาแก้อักเสบ, ยาพาราเซตามอล และยาระบาย ควรรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ ควรรับประทานให้ครบทั้งหมด
- ในระยะ 1-2 วันแรกหลังการผ่าตัด ผู้เข้ารับการผ่าตัดไม่ควรอาบน้ำ เพื่อป้องกันการติดเชื้อของแผลผ่าตัด อาจใช้การเช็ดตัวไปก่อน
- หลังการผ่าตัด 1-2 วัน ผู้เข้ารับการผ่าตัดสามารถอาบน้ำได้ตามปกติ ผู้เข้ารับการผ่าตัดควรทำความสะอาดแผลผ่าตัด ที่อยู่บริเวณปากช่องคลอด ด้วยการฟอกสบู่ขณะอาบน้ำ ในตอนเช้าและ/หรือก่อนนอนทุกครั้ง ไม่ควรพยายามทำความสะอาดในช่องคลอด โดยการล้วงเข้าไปในช่องคลอด หรือพยายามฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อใส่เข้าไปในช่องคลอด
- ในระยะ 2-3 วันแรกหลังผ่าตัด ผู้เข้ารับการผ่าตัดอาจจะมีความรู้สึกปวดบริเวณก้นกบ เนื่องจากการผ่าตัดมีการเย็บผนังด้านหลังของช่องคลอด ส่วนบนที่อยู่ใกล้กับปากมดลูก ซึ่งมีเอ็นที่ยึดบริเวณปากมดลูกกับกระดูกก้นกบ รวมทั้งผู้เข้ารับการผ่าตัด อาจมีอาการปวดเบ่ง คล้ายอยากถ่ายอุจจาระตลอดเวลา เนื่องจากมีการเย็บบริเวณส่วนที่กั้นระหว่างปากช่องคลอดกับทวารหนัก ที่มีหูรูดทวารหนักอยู่
- ดังนั้นผู้เข้ารับการผ่าตัดควรนอนพัก, ควรหยุดทำงาน และหลีกเลี่ยงการเดินหรือการขึ้นลงบันได ซึ่งก็จะช่วยให้แผลผ่าตัดไม่ถูกขยับไปมาเกือบตลอดเวลาหลังการผ่าตัด ทำให้ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เนื่องจากภาวะแผลแยกหลังการผ่าตัดได้ รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงการเบ่งถ่ายอุจจาระ เนื่องจากภาวะท้องผูก โดยการรับประทานยาระบาย
หลังการผ่าตัดตกแต่งปากช่องคลอด (ฝีเย็บ)
- อาจมีเลือดสีแดงจางๆ ออกจากช่องคลอด ในช่วง 1-2 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด ควรใส่ผ้าอนามัยเพื่อสังเกตปริมาณเลือดที่ออกจากช่องคลอด กรณีผู้เข้ารับการผ่าตัดมีเลือดออกมากชุ่มผ้าอนามัย หรือมีเลือดออกเป็นก้อนสีแดงสด กรุณาโทรติดต่อโรงพยาบาลทันที เพื่อขอรับคำแนะนำ หรือกลับมาพบแพทย์ เพื่อตรวจแผลผ่าตัด
- ในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังผ่าตัด ควรพยายามหลีกเลี่ยงความอับชื้นบริเวณแผลผ่าตัดเพื่อช่วยให้แผลแห้งและหายเร็วขึ้น สำหรับการทำความสะอาดบริเวณปากช่องคลอด หลังการถ่ายปัสสาวะ สามารถทำได้โดยการซับด้วยทิชชูเปียก (Sanitary Wipes) และหลังการถ่ายอุจจาระ โดยการล้างผ่านน้ำเปล่าแล้วซับเบาๆให้แห้ง
- หลังการผ่าตัด อาจมีตกขาวสีเหลืองเข้ม หรือตกขาวมีสีคล้ายหนอง เนื่องจากภายในช่องคลอดจะเต็มไปด้วยสารคัดหลั่งและแบคทีเรียต่างๆ ทําให้เกิดปฏิกิริยาต่อเนื้อเยื่อที่ผ่าตัดและไหมที่เย็บแผลผ่าตัด ทั้งนี้ต้องใช้เวลานาน 6-8 สัปดาห์ แผลที่ผ่าตัดจึงจะติดดีและไหมจะละลายหมด ดังนั้นผู้เข้ารับการผ่าตัด โปรดอย่ากังวลใจ ยกเว้นในกรณีตกขาวมีกลิ่นเหม็น ผู้เข้ารับการผ่าตัดอาจจำเป็นต้องได้รับยารับประทานเพิ่มเติม
- ผู้เข้ารับการผ่าตัดอาจมีตกขาวสีขาวปนเขียว และมีอาการคันในช่องคลอดมากกว่าปกติหลังการผ่าตัด เนื่องจากเชื้อราภายในช่องคลอด ซึ่งเกิดตามหลังการรับประทานยาปฏิชีวนะ ทั้งนี้โดยทั่วไปแพทย์จะจัดยาฆ่าเชื้อราให้รับประทาน หลังหยุดยาปฏิชีวนะ 1 สัปดาห์ หรือให้ยาเหน็บช่องคลอดฆ่าเชื้อรา เมื่อแผลผ่าตัดหายดีแล้ว หรือหลังการผ่าตัด 6-8 สัปดาห์
- ผู้เข้ารับการผ่าตัด สามารถรับประทานอาหารได้ทุกชนิดหลังการผ่าตัด แต่ควรยกเว้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ของหมักดองและควรงดสูบบุหรี่ อย่างน้อย 15 วันหลังการผ่าตัด
หัวข้อน่าสนใจ โปรดคลิก
ปัญหาทั่วไปของ อวัยวะเพศ ภายนอกของ ผู้หญิง
ภาวะแทรกซ้อน หลังการผ่าตัดตกแต่งปากช่องคลอด หรือตกแต่งฝีเย็บ
6) วันนัดหลังการผ่าตัดตกแต่งปากช่องคลอด (ฝีเย็บ) ครั้งที่ 1
- ควรมาพบแพทย์ตามนัด ทั้งนี้แพทย์หญิง วิทัศศนา จะนัดตรวจแผลผ่าตัดครั้งแรกหลังการผ่าตัด 1-2 สัปดาห์ รวมทั้งให้คำแนะนำในการดูแลแผลผ่าตัด และให้การตรวจรักษา ในกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด
7) การพักฟื้น หลังการผ่าตัดตกแต่งปากช่องคลอด (ฝีเย็บ)
- วิธีการพักฟื้นอาจจะแตกต่างกันออกไป ในผู้เข้ารับการผ่าตัดแต่ละคน ในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด บริเวณที่ทำการผ่าตัดยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ค่อนข้างมาก ดังนั้นผู้เข้ารับการผ่าตัดควรจะค่อยๆ เริ่มกลับมาทำกิจกรรมทางกายภาพต่างๆ ที่ต้องใช้กำลังได้เล็กน้อยและยกของเบาๆ ได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมทางกายภาพที่ต้องเดินมากๆ และการขึ้นลงบันไดบ่อยๆ
- บริเวณที่ทำการผ่าตัดอาจจะยังคงเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนในช่วงหลังสัปดาห์ที่ 2 จนถึงสัปดาห์ที่ 4 หลังการผ่าตัด บริเวณที่ทำการผ่าตัดอาจจะยังคงเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน อย่างไรก็ตามผู้เข้ารับการผ่าตัด สามารถทำกิจกรรมทางกายภาพต่างๆ ที่ต้องใช้กำลังปานกลางได้พอควร และควรงดการออกกําลังกายทุกชนิด
- ในช่วงหลังสัปดาห์ที่ 4 จนถึงสัปดาห์ที่ 6 หลังการผ่าตัด ผู้เข้ารับการผ่าตัดสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ทางกายภาพที่ต้องใช้กำลังปานกลางได้มากขึ้น และสามารถออกกำลังกายที่ใช้แรงของลำตัวช่วงบนได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมทางกายภาพ ที่ต้องใช้กำลังกล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกราน ที่ส่งผลกระทบต่อแผลผ่าตัด เช่น การวิ่งออกกำลังกายหรือการเดินเร็ว, การแช่น้ำอุ่นในอ่างอาบน้ำ, การว่ายน้ำ, การออกกําลังกายโดยการยกนํ้าหนัก, การขี่จักรยาน, การเล่นโยคะและการซิทอัพ รวมทั้งควรงดการมีเพศสัมพันธ์เป็นเวลาอย่างน้อย 6-8 สัปดาห์
8) วันนัดหลังการผ่าตัดตกแต่งปากช่องคลอด (ฝีเย็บ) ครั้งที่ 2
- โดยทั่วไปจะมีการนัดตรวจแผลผ่าตัด ครั้งที่ 2 หลังการผ่าตัด 6-8 สัปดาห์ เพื่อติดตามผลลัพธ์หลังการผ่าตัด รวมทั้งให้คําแนะนําก่อนการเริ่มมีเพศสัมพันธ์
- ไหมที่ใช้เย็บแผลผ่าตัด เป็นไหมที่ละลายช้าภายใน 6-8 สัปดาห์ แต่พบว่าในผู้เข้ารับการผ่าตัดบางราย อาจใช้เวลานานกว่า 6-8 สัปดาห์ ไหมจึงจะละลายหมด ทำให้เกิดอาการระคายเคือง ในผู้เข้ารับการผ่าตัดที่มีอาการคัน หรืออาการระคายเคืองมาก แนะนำให้รับประทานยาแก้แพ้ เพื่อช่วยบรรเทาอาการคัน
ราคาค่าผ่าตัด ตกแต่งปากช่องคลอด (ฝีเย็บ)
- ราคาผ่าตัด ตกแต่งปากช่องคลอด (ฝีเย็บ) ราคาเหมาจ่าย 39,000 บาท รวมค่าบริการวิสัญญีแพทย์ และค่ายากลับบ้าน
- ราคาผ่าตัดเหมาจ่ายนี้ ไม่รวมการตรวจสอบทางเคมีจำเพาะ และค่าปรึกษาแพทย์ทางอายุรกรรม ซึ่งจำเป็นในผู้เข้ารับการผ่าตัดบางราย ที่มีโรคประจำตัว และไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายกรณีที่มีการผ่าตัดแก้ไข เพื่อให้ผู้เข้ารับการผ่าตัดพอใจผลลัพธ์ของการผ่าตัดตามที่ต้องการ
ในกรณีที่ หลังการผ่าตัดตกแต่งปากช่องคลอด (ฝีเย็บ) มีภาวะแทรกซ้อน เช่น มีเลือดออกมากผิดปกติจากแผลผ่าตัด, แผลผ่าตัดแยก หรือการเกิดรูรั่วระหว่างลําไส้ตรงกับปากช่องคลอด ผู้เข้ารับการผ่าตัดจะได้รับการดูแลรักษาต่อเนื่อง จนกว่าภาวะดังกล่าวจะดีขึ้น โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ยกเว้นแต่ในกรณีที่ภาวะแทรกซ้อน เกิดจากการปฏิบัติตัวไม่ถูกต้อง หรือมีเพศสัมพันธ์ก่อนแพทย์อนุญาต ผู้เข้ารับการผ่าตัดต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเองทั้งหมด ไม่ว่าจะรักษาเพิ่มเติมที่โรงพยาบาลใดก็ตาม