1) คำแนะนำเกี่ยวกับ ขั้นตอนต่างๆ หลังการผ่าตัด แก้ไขภาวะปัสสาวะเล็ด โดยสายเทปคล้องใต้ท่อปัสสาวะ TVT-O
- หลังการผ่าตัดแก้ไข ปัสสาวะเล็ด โดยสายเทปคล้องใต้ท่อปัสสาวะ TVT-O ผู้เข้ารับการผ่าตัดจะได้รับการสังเกตอาการที่ห้องพักฟื้น 1-2 ชั่วโมง ซึ่งเมื่อผู้เข้ารับการผ่าตัดรู้สึกตัวดี, สัญญาณชีพปกติ และหลังการตรวจบริเวณแผลผ่าตัดแล้ว ไม่พบว่ามีเลือดออกจากแผลผ่าตัดมากผิดปกติ– วิสัญญีแพทย์จึงจะอนุญาตให้ผู้เข้ารับการผ่าตัด กลับไปนอนพักสังเกตอาการต่อที่ตึกผู้ป่วยใน ทั้งนี้ผู้เข้ารับการผ่าตัดอาจมีอาการอาการมึนงง, เวียนศีรษะหรือคลื่นไส้อาเจียน จากการดมยาสลบ ภาวะนี้จะดีขึ้นได้เอง เมื่อระดับยาในร่างกายลดลง
- ที่ตึกผู้ป่วยใน ผู้เข้ารับการผ่าตัดจะได้รับยาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันการติดเชื้อหลังการผ่าตัด, ยาแก้อักเสบ เพื่อบรรเทาอาการอักเสบและช่วยลดความเจ็บปวดของแผลผ่าตัด, ยาแก้ปวดพาราเซตามอล และยาระบาย เพื่อป้องกันภาวะท้องผูก กรณีผู้เข้ารับการผ่าตัดยังมีอาการปวดแผลมาก หลังการรับประทานยาแก้ปวด กรุณาแจ้งพยาบาล เพี่อขอรับยาแก้ปวดชนิดฉีด เพื่อช่วยลดอาการปวดจากการผ่าตัด
2) คำแนะนำเกี่ยวกับ การสัมผัสน้ำและการปฏิบัติตัว หลังการผ่าตัด แก้ไขภาวะ ปัสสาวะเล็ด โดยสายเทปคล้องใต้ท่อปัสสาวะ TVT-O
- วันรุ่งขึ้นหลังการผ่าตัด ผู้เข้ารับการผ่าตัดจะได้รับการถอดสายสวนปัสสาวะ ทั้งนี้ผู้เข้ารับการผ่าตัดจะสามารถลุกและเดินไปรอบๆ ได้เล็กน้อย หลังจากนั้นถ้าผู้เข้ารับการผ่าตัดสามารถปัสสาวะได้เอง และหลังการตรวจแผลผ่าตัดแล้ว ไม่พบว่ามีเลือดออกจากแผลผ่าตัดมากผิดปกติ รวมทั้งผู้เข้ารับการผ่าตัดเข้าใจเกี่ยวกับคำแนะนำในการปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัดที่ถูกต้อง แพทย์จึงจะอนุญาตให้กลับบ้านได้
- เมื่อกลับบ้าน ผู้เข้ารับการผ่าตัดจะได้รับยาปฏิชีวนะ, ยาระบาย, ยาแก้อักเสบและยาพาราเซตามอล ควรรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ ควรรับประทานให้ครบทั้งหมด
- ในระยะ 1-2 วันแรกหลังการผ่าตัด แผลผ่าตัดไม่ควรโดนน้ำ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่แผลผ่าตัด (อาจใช้การเช็ดตัวไปก่อน)
- หลังการผ่าตัด 1-2 วัน ผู้เข้ารับการผ่าตัดสามารถอาบน้ำได้ตามปกติ ทั้งนี้ผู้เข้ารับการผ่าตัด ควรทำความสะอาดแผลผ่าตัด บริเวณปากช่องคลอดด้วยการฟอกสบู่ขณะอาบน้ำ ในตอนเช้าและ/หรือก่อนนอนทุกครั้ง ไม่ควรพยายามทำความสะอาดในช่องคลอด โดยการล้วงเข้าไปในช่องคลอด หรือไม่ควรพยายามฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อเข้าไปในช่องคลอด
- ผู้เข้ารับการผ่าตัด ควรจะต้องหยุดทำงานและงดกิจกรรมต่างๆ ที่เคยทำเป็นประจำ ในช่วง 2-3 วันแรกหลังการผ่าตัด เพื่อลดอาการปวด อันเนื่องมาจากการอักเสบของแผลผ่าตัด อีกทั้งเนื่องจากแผลผ่าตัดอยู่ในบริเวณที่จะได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนไหว ซึ่งได้แก่ การเดิน, การขึ้นลงบันได หรือการทำกิจกรรมทางกายภาพต่างๆ ดังนั้นการหยุดทำงานและงดกิจกรรมต่างๆ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เนื่องจากภาวะแผลแยกได้
- ผู้เข้ารับการผ่าตัด อาจจะมีอาการปวดตึงที่แผลผ่าตัดและต้นขาทั้งสองข้าง โดยเฉพาะในช่วง 1 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด หลังจากนั้นโดยทั่วไปก็จะหายเป็นปกติ ซึ่งแพทย์จะจัดยาแก้ปวด และยาแก้อักเสบให้รับประทาน ผู้เข้ารับการผ่าตัดควรงดการทำงานหนัก เนื่องจากจะทำให้แผลผ่าตัดเกิดการอักเสบ ซึ่งส่งผลให้มีอาการปวดมากยิ่งขึ้น ในกรณีที่มีอาการบวมที่แผลผ่าตัด, มีไข้สูง ร่วมกับมีอาการปวดบริเวณแผลผ่าตัดและ/หรือต้นขาทั้งสองข้างมากขึ้น ผู้เข้ารับการผ่าตัดควรกลับมาพบแพทย์ โดยไม่ต้องรอให้ถึงวันนัด
- หลังการผ่าตัด อาจมีเลือดสีแดงจางๆ ออกจากช่องคลอดบ้าง ในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก ผู้เข้ารับการผ่าตัดควรใส่ผ้าอนามัย เพื่อสังเกตปริมาณเลือดที่ออกจากช่องคลอด กรณีผู้เข้ารับการผ่าตัดมีเลือดออกมากชุ่มผ้าอนามัย หรือมีเลือดออกเป็นก้อนสีแดงสด กรุณาโทรติดต่อโรงพยาบาลทันที เพื่อขอรับคำแนะนำ หรือกลับมาพบแพทย์ เพื่อตรวจแผลผ่าตัด
- ในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังผ่าตัด ควรพยายามหลีกเลี่ยงความอับชื้นบริเวณแผลผ่าตัด เพื่อช่วยให้แผลผ่าตัดแห้งและหายเร็วขึ้น สำหรับการทำความสะอาด บริเวณปากช่องคลอดหลังปัสสาวะ สามารถทำได้โดยการซับด้วยทิชชูเปียก (Sanitary Wipes) และหลังการถ่ายอุจจาระ โดยการล้างผ่านน้ำเปล่าแล้วซับเบาๆให้แห้ง
- หลังการผ่าตัดอาจมีตกขาวสีเหลืองเข้ม หรือตกขาวมีสีคล้ายหนองนาน 6-8 สัปดาห์ ผู้เข้ารับการผ่าตัดโปรดไม่ต้องกังวลใจ เนื่องจากภายในช่องคลอดจะเต็มไปด้วยสารคัดหลั่งและแบคทีเรียต่างๆ ทําให้เกิดปฏิกิริยาต่อเนื้อเยื่อที่ผ่าตัดและไหมที่เย็บแผลผ่าตัดในช่องคลอด ซึ่งเมื่อไหมที่เย็บแผลผ่าตัดละลายหมดและแผลผ่าตัดหายดีแล้ว อาการดังกล่าวจะหายเป็นปกติ ยกเว้นในกรณีตกขาวมีกลิ่นเหม็น ผู้เข้ารับการผ่าตัดอาจจะต้องได้รับยารับประทานเพิ่มเติม
- ผู้เข้ารับการผ่าตัดอาจมีตกขาวสีขาวปนเขียว หรือมีอาการคันในช่องคลอดมากกว่าปกติหลังการผ่าตัด เนื่องจากเชื้อราภายในช่องคลอด ซึ่งเกิดตามหลังการรับประทานยาปฏิชีวนะ ทั้งนี้โดยทั่วไปแพทย์จะจัดยาฆ่าเชื้อราให้รับประทาน หลังหยุดยาปฏิชีวนะ 1 สัปดาห์ หรือให้ยาเหน็บช่องคลอดฆ่าเชื้อรา เมื่อแผลผ่าตัดหายดีแล้ว หรือหลังการผ่าตัด 6-8 สัปดาห์
- หลังการผ่าตัดผู้เข้ารับการผ่าตัดสามารถรับประทานอาหารได้ทุกชนิด แต่ควรยกเว้น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ของหมักดอง และงดสูบบุหรี่ อย่างน้อย 15 วันหลังการผ่าตัด
ต้องการอ่านเพิ่มเติม โปรดคลิก
ปัญหาทั่วไปของ อวัยวะเพศ ภายนอกของผู้หญิง
คำถามบ่อย เกี่ยวกับการผ่าตัด รีแพร์ ด้านหน้าและด้านหลังผนังช่องคลอด
3) คำแนะนำเกี่ยวกับ การปฎิบัติตัว ในระยะเวลาพักฟื้น หลังการผ่าตัด แก้ไขภาวะ ปัสสาวะเล็ด โดยสายเทปคล้องใต้ท่อปัสสาวะ TVT-O
- ในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด บริเวณที่ทำการผ่าตัดยังคงมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ค่อนข้างมาก ดังนั้นผู้เข้ารับการผ่าตัดอาจจะค่อยๆ กลับมาทำกิจกรรมทางกายภาพต่างๆ ที่ต้องใช้กำลังได้เล็กน้อยและยกของเบาๆ ได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมทางกายภาพที่ต้องที่ต้องเดินมากๆ และการขึ้นลงบันไดบ่อยๆ
- ในช่วงหลังสัปดาห์ที่ 2 – จนถึงสัปดาห์ที่ 4 หลังการผ่าตัด บริเวณที่ทำการผ่าตัดอาจจะยังคงเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน อย่างไรก็ตามผู้เข้ารับการผ่าตัด สามารถทำกิจกรรมทางกายภาพต่างๆ ที่ต้องใช้กำลังปานกลางได้พอควร แต่ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมทางกายภาพ ที่ต้องใช้กำลังที่ส่งผลกระทบต่อแผลผ่าตัด
- ในช่วงหลังสัปดาห์ที่ 4 – จนถึงสัปดาห์ที่ 6 หลังการผ่าตัด บริเวณที่ทำการผ่าตัดยังคงไม่หายดีนัก ผู้เข้ารับการผ่าตัดสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ทางกายภาพที่ต้องใช้กำลังปานกลางได้มากขึ้น และสามารถออกกำลังกายที่ใช้แรงของลำตัวช่วงบนได้ แต่ผู้เข้ารับการผ่าตัด ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมทางกายภาพที่ต้องใช้กำลังมาก เช่น การเดินเร็ว, การวิ่งออกกำลังกาย, การว่ายน้ำ, งดการแช่น้ำอุ่นในอ่างอาบน้ำ, การออกกําลังกายโดยการยกของหนัก, การขี่จักรยาน รวมทั้งการออกกําลังกายกล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกราน
- หลังการผ่าตัด 6-8 สัปดาห์ ผู้เข้ารับการผ่าตัดสามารถทำกิจกรรมทางกายภาพต่างๆ ได้ตามปกติ รวมทั้งการมีเพศสัมพันธ์
4) คำแนะนำเกี่ยวกับ การนัดหมาย หลังการผ่าตัด แก้ไขภาวะ ปัสสาวะเล็ด โดยสายเทปคล้องใต้ท่อปัสสาวะ TVT-O
- พญ.วิทัศศนา จะนัดตรวจหลังการผ่าตัด แก้ไขภาวะ ปัสสาวะเล็ด โดยสายเทปคล้องใต้ท่อปัสสาวะ TVT-O ในราว 1-2 สัปดาห์หลังการผ่าตัด หรือเมื่อเห็นว่าเหมาะสม โปรดอย่าลังเลที่จะ ติดต่อสอบถาม เราหากมีข้อสงสัย