4) ขั้นตอนหลังการผ่าตัด ตกแต่งด้านหน้าและด้านหลังช่องคลอด แบบเสริมแผ่นพยุง
หลังการผ่าตัด ตกแต่งด้านหน้าและด้านหลังช่องคลอด แบบเสริมแผ่นพยุง ผู้ป่วยจะได้รับการสังเกตอาการที่ห้องพักฟื้น 1-2 ชั่วโมง เมื่อผู้ป่วยรู้สึกตัวดี, สัญญาณชีพปกติ–วิสัญญีแพทย์จึงจะอนุญาตให้ผู้ป่วยกลับไปนอนพัก เพื่อสังเกตอาการต่อที่ตึกผู้ป่วยใน ผู้ป่วยอาจมีอาการมึนงง, เวียนศีรษะ, คลื่นไส้หรืออาเจียน จากการดมยาสลบ ภาวะนี้จะดีขึ้นได้เอง เมื่อระดับยาในร่างกายลดลง
ที่ตึกผู้ป่วยในผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัด จะได้รับยาปฏิชีวนะ, ยาแก้อักเสบ ที่ช่วยลดอาการปวดแผลผ่าตัด, ยาพาราเซตามอล ช่วยแก้ปวด และยาระบาย เพื่อป้องกันภาวะท้องผูก กรณีผู้ป่วยมีอาการปวดแผลมากไม่ดีขึ้นหลังการรับประทานยาแก้ปวด กรุณาแจ้งพยาบาล เพื่อขอรับยาแก้ปวดชนิดฉีด เพื่อบรรเทาอาการปวด
ในระยะ 2-3 วันแรกการหลังผ่าตัด ผู้ป่วยอาจมีความรู้สึกปวดที่บริเวณแผลผ่าตัด และอาจมีความรู้สึกปวดเบ่งอยากถ่ายอุจจาระตลอดเวลา เนื่องจากการผ่าตัดมีการเย็บผนังด้านหลังของช่องคลอดส่วนล่าง (หรือบริเวณฝีเย็บ) กับทวารหนัก ที่มีหูรูดทวารหนักอยู่ ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรนอนพัก เพื่อลดอาการปวดอันเนื่องมาจากการอักเสบของแผลผ่าตัด และควรหลีกเลี่ยงการเบ่งถ่ายอุจจาระ เนื่องจากภาวะท้องผูก โดยการรับประทานยาระบาย
หลังการผ่าตัดมีความจำเป็นที่จะต้องใส่สายสวนปัสสาวะคาไว้ โดยเฉพาะในระยะ 3-5 วันแรกหลังการผ่าตัด เพื่อป้องกันไม่ให้มีปัสสาวะคั่งค้าง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะทางเดินปัสสาวะอักเสบ อันเนื่องมาจากภาวะปัสสาวะลำบากหลังการผ่าตัด ซึ่งเกิดจากภาวะตึงตัวของกล้ามเนื้อบริเวณรอบปากช่องคลอด หลังจากการผ่าตัดในระยะแรก หลังจากนั้นเมื่อภาวะตึงตัวของกล้ามเนื้อรอบปากช่องคลอดลดลง ผู้ป่วยจะสามารถปัสสาวะได้เองตามปกติ
ในระยะ 3-5 วันแรกหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยไม่ควรอาบน้ำ เพื่อป้องกันการติดเชื้อของแผลผ่าตัด (อาจใช้การเช็ดตัวไปก่อน) ซึ่งการทำความสะอาดบริเวณแผลผ่าตัดหลังการถ่ายอุจจาระ สามารถทำได้โดยล้างผ่านน้ำเปล่าแล้วซับเบาๆให้แห้ง
หลังการผ่าตัด 3-5 วัน ผู้ป่วยจะได้รับการถอดสายสวนปัสสาวะ จากนั้นแพทย์หญิง วิทัศศนา จะทําการตรวจแผลผ่าตัดว่าไม่มีเลือดออกมากผิดปกติ และเมื่อมีการสอบถาม เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัดแล้ว ผู้ป่วยสามารถตอบได้ถูกต้อง รวมทั้งผู้ป่วยสามารถปัสสาวะได้เอง –แพทย์หญิง วิทัศศนา จึงจะอนุญาตให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้
ต้องการอ่านเพิ่ม
คำถามบ่อยเกี่ยวกับการผ่าตัด ตกแต่งช่องคลอด แบบเสริมแผ่นพยุง
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้หลังการ ผ่าตัดด้านหน้าและด้านหลังช่องคลอด แบบเสริมแผ่นพยุง
5) การดูแลหลังการผ่าตัด ตกแต่งด้านหน้าและด้านหลังช่องคลอด แบบเสริมแผ่นพยุง
เมื่อกลับบ้านหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจะได้รับยาปฏิชีวนะ, ยาระบาย, ยาแก้อักเสบและยาพาราเซตามอล ควรรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ ควรรับประทานให้ครบทั้งหมด
หลังการผ่าตัด 3-5 วัน ผู้ป่วยสามารถอาบน้ำได้ตามปกติ ผู้ป่วยควรทำความสะอาดแผลผ่าตัดบริเวณปากช่องคลอดด้วยการฟอกสบู่ขณะอาบน้ำ ในตอนเช้าและ/หรือก่อนนอนทุกครั้ง ไม่ควรพยายามทำความสะอาดในช่องคลอด โดยการล้วงเข้าไปในช่องคลอด หรือพยายามฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อเข้าไปในช่องคลอด
ผู้ป่วยควรจะต้องหยุดทำงานและงดกิจกรรมต่างๆ ที่เคยทำเป็นประจำ ซึ่งได้แก่ การเดิน, การขึ้นลงบันได ในระยะ 5-7 วันแรกหลังการผ่าตัด ก็จะช่วยให้แผลผ่าตัดไม่ถูกขยับไปมาเกือบตลอดเวลาหลังการผ่าตัด ซึ่งก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เนื่องจากภาวะแผลแยกหลังการผ่าตัดได้
อาจมีเลือดสีแดงจางๆ ออกจากช่องคลอด ในช่วง 1-2 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด ดังนั้นผู้ป่วยควรใส่ผ้าอนามัยแบบบาง เพื่อสังเกตปริมาณเลือดที่ออกจากช่องคลอด กรณีมีเลือดออกมากชุ่มผ้าอนามัย หรือมีเลือดออกเป็นก้อนสีแดงสด กรุณาโทรติดต่อโรงพยาบาลทันที เพื่อขอรับคำแนะนำ หรือกลับมาพบแพทย์ เพื่อตรวจแผลผ่าตัด
ในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยควรพยายามหลีกเลี่ยงความอับชื้นบริเวณแผลผ่าตัด เพื่อช่วยให้แผลผ่าตัดแห้งและหายเร็วขึ้น สำหรับการทำความสะอาดบริเวณบริเวณปากช่องคลอดหลังปัสสาวะ สามารถทำได้โดยการซับด้วยทิชชูเปียก (Sanitary Wipes) และหลังการถ่ายอุจจาระ โดยการล้างผ่านน้ำเปล่าแล้วซับเบาๆให้แห้ง
หลังการผ่าตัดอาจมีตกขาวสีเหลืองเข้ม หรือตกขาวมีสีคล้ายหนองนาน 6-8 สัปดาห์ เนื่องจากภายในช่องคลอดจะเต็มไปด้วยสารคัดหลั่งและแบคทีเรียต่างๆ ทําให้เกิดปฏิกิริยาต่อเนื้อเยื่อที่ผ่าตัดและไหมที่เย็บแผลผ่าตัดในช่องคลอด ทั้งนี้ต้องใช้เวลานาน 6-8 สัปดาห์แผลที่ผ่าตัดจึงจะติดดีและไหมจะละลายหมด ดังนั้นผู้ป่วยโปรดไม่ต้องกังวลใจ ยกเว้นในกรณีตกขาวมีกลิ่นเหม็น ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องได้รับยารับประทานเพิ่มเติม
หลังการผ่าตัดผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารได้ทุกชนิด แต่ควรยกเว้น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ของหมักดองและงดสูบบุหรี่ อย่างน้อย 15 วันหลังการผ่าตัด
6) วันนัดหมาย หลังการผ่าตัด ตกแต่งด้านหน้าและด้านหลังช่องคลอด แบบเสริมแผ่นพยุง ครั้งที่ 1
ควรมาพบแพทย์ตามนัด ทั้งนี้ แพทย์หญิง วิทัศศนา จะนัดตรวจแผลผ่าตัดครั้งแรกหลังการผ่าตัด 1-2 สัปดาห์ และให้คําแนะนําในการดูแลแผลผ่าตัดเพิ่มเติม รวมทั้งให้การตรวจรักษาในกรณีที่มีความผิดปกติหลังการผ่าตัด
7) การพักฟื้น หลังการผ่าตัด ตกแต่งด้านหน้าและด้านหลังช่องคลอด แบบเสริมแผ่นพยุง
วิธีการพักฟื้นหลังการผ่าตัด อาจจะแตกต่างกันออกไป ในผู้ป่วยแต่ละคน ในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัดบริเวณที่ทำการผ่าตัดยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ค่อนข้างมาก ดังนั้นผู้ป่วยควรจะค่อยๆ เริ่มกลับมาทำกิจกรรมทางกายภาพต่างๆ ที่ต้องใช้กำลังได้เล็กน้อย และยกของเบาๆ ได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมทางกายภาพที่ต้องเดินมากๆ และการขึ้นลงบันไดบ่อยๆ
บริเวณที่ทำการผ่าตัดอาจจะยังคงเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน ในช่วงหลังสัปดาห์ที่ 2 จนถึงสัปดาห์ที่ 4 หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมทางกายภาพต่างๆ ที่ต้องใช้กำลังปานกลางได้พอควร แต่ควรงดการออกกําลังกายทุกชนิด
ในช่วงหลังสัปดาห์ที่ 4 จนถึงสัปดาห์ที่ 6 หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ทางกายภาพที่ต้องใช้กำลังปานกลางได้มากขึ้น และผู้ป่วยสามารถออกกำลังกายที่ใช้แรงของลำตัวช่วงบนได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมทางกายภาพ ที่ต้องใช้กำลังกล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกราน ที่ส่งผลกระทบต่อแผลผ่าตัด เช่น การวิ่งออกกำลังกายหรือการเดินเร็ว, การแช่น้ำอุ่นในอ่างอาบน้ำ, การว่ายน้าออกกําลังกาย, การยกของหนัก, การขี่จักรยาน, การเล่นโยคะและการซิทอัพ
ในช่วงหลังสัปดาห์ที่ 6 หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ทางกายภาพที่ต้องใช้กำลังได้ตามปกติ รวมทั้งกิจกรรมทางกายภาพที่ต้องใช้กำลังกล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกราน แต่ทั้งนี้ผู้ป่วยควรงดการมีเพศสัมพันธ์หลังการผ่าตัด
8) วันนัดหมาย หลังการผ่าตัด ตกแต่งด้านหน้าและด้านหลังช่องคลอด แบบเสริมแผ่นพยุง ครั้งที่ 2
โดยทั่วไปจะมีการนัดตรวจแผลผ่าตัดครั้งที่ 2 หลังการผ่าตัด 6-8 สัปดาห์ เพื่อติดตามผลลัพธ์หลังการผ่าตัด และให้คําแนะนําในการงดการมีเพศสัมพันธ์หลังการผ่าตัด
ไหมที่ใช้เย็บแผล เป็นไหมที่ละลายช้าภายใน 6-8 สัปดาห์ แต่พบว่าในผู้ป่วยบางราย อาจใช้เวลานานมากกว่า 6-8 สัปดาห์ ไหมจึงจะละลายหมด ทำให้เกิดอาการระคายเคืองจากไหมที่ใช้เย็บในการผ่าตัด ในผู้ป่วยที่มีอาการคัน หรืออาการระคายเคืองมาก แนะนำให้รับประทานยาแก้แพ้ เพื่อช่วยบรรเทาอาการคัน
ราคาค่าผ่าตัด ตกแต่งด้านหน้าและด้านหลังช่องคลอด แบบเสริมแผ่นพยุง
ราคาผ่าตัดเหมาจ่ายนี้ ไม่รวมการตรวจสอบทางเคมีจำเพาะ และค่าปรึกษาแพทย์ทางอายุรกรรม ซึ่งจำเป็นในผู้ป่วยบางรายที่มีโรคประจำตัว และไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายกรณีที่มีการผ่าตัดแก้ไข เพื่อให้ผู้ป่วยพอใจผลลัพธ์ของการผ่าตัดตามที่ผู้ป่วยต้องการ
ในกรณีที่การผ่าตัดมีภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลรักษาต่อเนื่องจนกว่าภาวะดังกล่าวจะดีขึ้น โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ยกเว้นแต่ในกรณีเกิดภาวะแทรกซ้อน เกิดจากการปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัดไม่ถูกต้อง ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเองทั้งหมด ไม่ว่าจะรักษาเพิ่มเติมที่โรงพยาบาลใดก็ตาม
ปัจจุบันมีการนำเลเซอร์มาใช้ในการผ่าตัด ตกแต่งด้านหน้าและด้านหลังช่องคลอด แบบเสริมแผ่นพยุง ซึ่งส่งผลให้การผ่าตัดมีความแม่นยำ และเที่ยงตรงมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเลเซอร์สามารถควบคุมความความลึกของแผลผ่าตัดได้ ทําให้ช่วยลดการเสียเลือด รวมทั้งช่วยลดการทำลายเส้นเลือดที่มาเลี้ยงแผลผ่าตัด และเนื้อเยื่อที่อยู่ด้านล่างของแผลผ่าตัด ทําให้ส่งผลดีต่อกระบวนการหายของแผลผ่าตัด ทำให้การทำผ่าตัดด้วยเลเซอร์ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า เมื่อเทียบกับการทำผ่าตัดโดยใช้ใบมีดแบบดั้งเดิม