การผ่าตัด ยกมดลูก คืออะไร และมีประโยชน์กับคุณผู้หญิงอย่างไร?
• การผ่าตัด ยกมดลูก คือ การผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนตำแหน่งของมดลูก และปากมดลูกกลับสู่ตำแหน่งปกติ โดยการผ่าตัดเย็บเอ็นที่ยึดปีกมดลูก ให้ติดกับเอ็นบุผนังหน้าท้องทั้ง 2 ข้าง
• เมื่อคุณผู้หญิงรู้สึกว่ามีก้อน หรือส่วนนูนยื่นออกมาจากช่องคลอด โดยทั่วไปจะเป็นส่วนของผนังช่องคลอด–หรือปากมดลูก–หรือส่วนของมดลูกที่หย่อนผ่านช่องคลอดตํ่าลงมา ปัญหานี้โดยปกติแล้วจะทำการรักษา โดยการตัดมดลูกออกทางช่องคลอด หรือผ่าตัดมดลูกออกทางด้านหน้าท้อง แต่อีกทางเลือกหนึ่งของการผ่าตัด เพื่อแก้ไขภาวะดังกล่าว ได้แก่ การผ่าตัดยกมดลูก ซึ่งจะช่วยลดอาการปวดถ่วงท้องน้อย และลดอาการระคายเคืองจากการที่ส่วนของอวัยวะในอุ้งเชิงกรานที่หย่อนผ่านช่องคลอดลงมา
1) ข้อควรทราบและการเตรียมตัว ก่อนการผ่าตัด ยกมดลูก
ในช่วงของการปรึกษา ผู้ต้องการเข้ารับการผ่าตัดจะได้พบกับ แพทย์หญิง วิทัศศนา เพื่อซักประวัติและตรวจภายใน หลังการตรวจภายใน ผู้ต้องการเข้ารับการผ่าตัดจะได้รับการอธิบาย เกี่ยวกับสภาพของความหย่อนยานของมดลูก, ข้อมูลเกี่ยวกับการผ่าตัด, การให้ยาระงับความรู้สึก, ประโยชน์ที่จะได้รับจากการทำผ่าตัด, ผลลัพธ์ที่เป็นไปได้ในการทำผ่าตัด, ทางเลือกในการรักษา และรายละเอียดเกี่ยวกับการพักฟื้นหลังการผ่าตัด รวมทั้ง รายละเอียดของค่าใช้จ่ายในการผ่าตัด.
หลังจากนั้นผู้ต้องการเข้ารับการผ่าตัด จะได้รับการอธิบายเกี่ยวกับ ภาวะแทรกซ้อน ทั่วไปของการผ่าตัด ได้แก่ ภาวะเลือดออก, ภาวะแผลติดเชื้อ, ภาวะแผลแยก, ความเจ็บปวดหลังการผ่าตัด, การแพ้ยาหรือสารอื่นๆ ที่ใช้ในการผ่าตัด, การเกิดเชื้อราในช่องคลอด และภาวะแทรกซ้อนจำเพาะของการผ่าตัด ได้แก่ อาการปวดหรือตึงที่ช่องคลอด หรืออาการปวดในขณะมีเพศสัมพันธ์หลังการผ่าตัด
ไม่แนะนำให้ทำการผ่าตัด ในผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง และไม่แนะนำให้ทำการผ่าตัดในผู้ที่วางแผนที่จะตั้งครรภ์หลังการผ่าตัด รวมทั้งไม่แนะนำให้ทำการผ่าตัด ในกรณีที่ผู้ต้องการเข้ารับการผ่าตัด ที่ไม่ได้แจ้งแฟนหรือคู่สมรส ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหาความไม่เข้าใจกัน เนื่องจากต้องงดการมีเพศสัมพันธ์หลังการผ่าตัด
การผ่าตัดนี้มีข้อจำกัด ไม่สามารถรับประกันผล และความพึงพอใจในผู้เข้ารับการผ่าตัดแต่ละคนได้ทั้งหมด เนื่องจากผลของการผ่าตัดส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับ โครงสร้างพื้นฐานเดิมของผู้เข้ารับการผ่าตัด ได้แก่ ความรุนแรงของความหย่อนยานของมดลูก และนอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับโรคประจำตัวของผู้เข้ารับการผ่าตัด เพราะโรคประจำตัวบางชนิด ส่งผลต่อกระบวนการหายของแผลผ่าตัด รวมทั้งยังขึ้นอยู่กับการดูแลแผลผ่าตัดที่ถูกต้องของผู้เข้ารับการผ่าตัด ในการป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด ซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัยเกินการควบคุมของแพทย์ ซึ่งแพทย์จะแจ้งให้ผู้เข้ารับการผ่าตัดรับทราบก่อนการผ่าตัด
หลังการผ่าตัด อาจจะเกิดจากสาเหตุใดๆ ก็ตาม ที่ทําให้การผ่าตัดมีผลคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือกรณีเป็นความต้องการของผู้เข้ารับการผ่าตัด ที่ต้องการผ่าตัดแก้ไข เนื่องจากไม่พึงพอใจผลการผ่าตัดก็อาจทำได้ โดยการพิจารณาตามความเหมาะสมและความเป็นไปได้ ทั้งนี้ผู้เข้ารับการผ่าตัดและแพทย์ ควรจะปรึกษาร่วมกัน ซึ่งผู้เข้ารับการผ่าตัดจะได้รับการผ่าตัดแก้ไขต่อเนื่อง ภายในระยะเวลา 6 เดือนหลังการผ่าตัด โดยเสียค่าใช้จ่ายเฉพาะค่ายา, ค่าห้องและค่าใช้จ่ายทางวิสัญญีตามจริง
บริเวณที่ทำการผ่าตัด มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เนื่องจากภาวะเลือดออกผิดปกติ ในระหว่างผ่าตัดหรือหลังการผ่าตัดได้ เพราะเป็นการผ่าตัดในบริเวณที่มีเส้นเลือดค่อนข้างมาก ซึ่งภาวะเลือดออกผิดปกติ อาจพบได้ประมาณน้อยกว่าร้อยละ 1 แต่เป็นภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย ดังนั้นผู้ต้องการเข้ารับการผ่าตัด ไม่ควรรับประทานยาในกลุ่มแอสไพริน หรือกลุ่มยาลดการแข็งตัวของเลือด 10-15 วัน ก่อนหรือหลังการผ่าตัด
อีกทั้งบริเวณที่ทำการผ่าตัด มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เนื่องจากภาวะแผลแยกได้ค่อนข้างมาก เนื่องจากแผลผ่าตัดอยู่ในบริเวณที่จะได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนไหว ผู้เข้ารับการผ่าตัด ควรจะต้องหยุดทำงาน และงดกิจกรรมต่างๆ ที่เคยทำเป็นประจำในช่วง 3-5 วันแรกหลังการผ่าตัด รวมทั้งในส่วนแพทย์ที่ทำผ่าตัดจำเป็นต้องมีความระมัดระวังในการผ่าตัด และมีเทคนิคการเย็บแผลผ่าตัดที่ดี ในการป้องกันการเกิดภาวะแผลแยก
เช่นเดียวกับการผ่าตัดชนิดอื่นๆ ในการผ่าตัดนี้ มีความเสี่ยงต่อการอักเสบ และการติดเชื้อของแผลผ่าตัด ซึ่งทำให้เกิดภาวะแผลแยกได้ ดังนั้นการป้องกันการติดเชื้อ โดยการฉีดยาปฏิชีวนะก่อนการผ่าตัด และการรับประทานยาปฏิชีวนะให้ครบหลังการผ่าตัดเป็นสิ่งสําคัญ
การผ่าตัดนี้จะทำการผ่าตัดโดยการดมยาสลบ ผู้ต้องการเข้ารับการผ่าตัดจึงต้องงดน้ำและอาหาร ก่อนทำการผ่าตัดอย่างน้อย 6 ชั่วโมง เพื่อลดความเสี่ยงในการสำลักเศษอาหาร ในระหว่างหรือหลังจากการทำผ่าตัด
เมื่อพร้อมที่จะเข้ารับการผ่าตัด โปรดโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ เพื่อนัดวันผ่าตัด หากผู้ต้องการเข้ารับการผ่าตัดมีโรคประจำตัว หรือมีประวัติการแพ้ยา กรุณาแจ้งเจ้าหน้าที่และแพทย์ก่อนเข้ารับการผ่าตัด
-ไม่ต้องการ การผ่าตัด ยกมดลูก-ตําแหน่งมดลูกตําแหน่งปกติ
-ต้องการ การผ่าตัด ยกมดลูก-ตําแหน่งมดลูกผิดปกติ
2) อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ขั้นตอนก่อน การผ่าตัด ยกมดลูก
3) ขั้นตอน การผ่าตัด ยกมดลูก
การผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 60-90 นาที โดยการดมยาสลบ เป็นการผ่าตัดทางหน้าท้อง โดยแผลผ่าตัดอยู่ในแนวขวางเหนือระดับกระดูกหัวหน่าว (แต่ในผู้ที่เคยผ่านการผ่าตัดช่องท้อง และมีแนวแผลในแนวตั้งมาก่อน จำเป็นต้องผ่าตัดแนวแผลในแนวตั้งระดับใต้สะดือ) จากนั้นผนังหน้าท้องจะถูกผ่าตัด–ผ่านทีละชั้นจนถึงช่องท้อง แพทย์จะทำการดึงเอ็นที่ยึดปีกมดลูก (Round Ligament) ทั้ง 2 ข้าง ผ่านเยื่อบุช่องท้องออกมาที่ด้านข้างของกล้ามเนื้อหน้าท้อง แล้วนํามาเย็บติดกับเอ็นบุผนังหน้าท้องทั้ง 2 ข้าง ด้วยไหมที่ไม่ละลาย หลังจากนั้นจะเย็บปิดแผลหน้าท้อง ด้วยไหมละลายช้าเส้นเล็กตามความยาวแผล หลังจากนั้นแผลผ่าตัดจะถูกปิดด้วยผ้ากอซ เพื่อช่วยห้ามเลือดหลังผ่าตัด และมีความจำเป็นที่ต้องใส่สายสวนปัสสาวะคาไว้ อย่างน้อย 1-2 วันหลังการผ่าตัด
การผ่าตัด ยกมดลูก เป็นหนึ่งในกลุ่มของ ศัลยกรรมทางนรีเวช ที่มีความซับซ้อนมากที่สุดชนิดหนึ่ง โดยต้องอาศัยความรู้, ความเข้าใจของโครงสร้างทางกายวิภาคของอวัยวะต่างๆ ในอุ้งเชิงกราน และทักษะการผ่าตัดที่ความแม่นยำเป็นอย่างมาก เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน ศัลยแพทย์ส่วนใหญ่ขาดประสบการณ์ หรือมีประสบการณ์ทางด้านศัลยกรรมประเภทนี้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ดังนั้นผู้เข้ารับบริการจำเป็นต้องคำนึงถึงประสบการณ์ของแพทย์ที่จะทำการผ่าตัด